แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 147 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานและต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานและเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ตลอดจนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเงินยืมทดรองราชการเป็นของตนโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ขอเงินยืมทดรองราชการและได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ แม้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริตไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 147 และ 157
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน การนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับกรมประชาสัมพันธ์ได้รับเงินทดรองราชการคืนครบถ้วนแล้ว ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาเฉพาะปัญหาว่ามีเหตุควรรอการลงโทษหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า 8 วช. ผู้อำนวยการส่วนโครงการพิเศษ สำนักส่งเสริมและพัฒนางานเทคนิค กรมประชาสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม 7 ว. สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 กรมประชาสัมพันธ์มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยทั้งสองให้เป็นคณะทำงานจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนา และคณะทำงานวิชาการประจำกลุ่มฝึกภาคปฏิบัติ หลักสูตร “เทคนิคการกระจายเสียงสมัยใหม่” ให้แก่บุคลากรของกรมประชาสัมพันธ์ ณ โรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2542 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2542 คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่ง การฝึกอบรมและสัมมนาดังกล่าวกรมประชาสัมพันธ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการจัดฝึกอบรมช่างเทคนิคของกรมประชาสัมพันธ์จากสถาบันฝึกอบรมดอยเชวลเลอร์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ยืมเงินทดรองราชการเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและสัมมนาหลักสูตรดังกล่าว 354,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินยืมทดรองราชการจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องพร้อมทั้งเงินเหลือจ่าย (ถ้ามี) ส่งใช้คืนให้แก่ทางราชการเพื่อหักล้างเงินยืมทดรองราชการภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2542 หลังการจัดฝึกอบรมและสัมมนาเสร็จสิ้นจำเลยทั้งสองร่วมกันนำใบแจ้งหนี้ค่าห้องพัก 233,600 บาท ซึ่งออกโดยโรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ ไปยื่นขอหักล้างเงินยืมทดรองราชการ แต่ต่อมาโรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือยืนยันว่าการฝึกอบรมและสัมมนามีค่าใช้จ่าย 481,810 บาท โดยสถาบันฝึกอบรมดอยเชอลเลอร์ ชำระเงินให้แก่โรงแรมแล้ว 432,750 บาท คงเหลือค่าใช้จ่ายที่กรมประชาสัมพันธ์จะต้องชำระให้แก่โรงแรมเพียง 49,060 บาท เงินยืมทดรองราชการ 354,000 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้แก่โรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ เสร็จสิ้นแล้ว คงเหลือเงินยืมทดรองราชการที่จะต้องส่งคืนให้แก่กองคลัง กรมประชาสัมพันธ์ 304,940 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งเงินยืมทดรองราชการคืนให้แก่กรมประชาสัมพันธ์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดส่งหลักฐานหักล้างเงินยืมทดรองราชการตามระเบียบ วันที่ 28 มกราคม 2543 กองคลังกรมประชาสัมพันธ์มีหนังสือให้ ผอ.สพท. สั่งการให้จำเลยที่ 1 ส่งใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องหรือเงินเหลือจ่ายเพื่อประกอบการหักล้างเงินยืมทดรองราชการภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 วันที่ 7 มีนาคม 2543 นางภัทรียา ผู้อำนวยการสถาบัน การประชาสัมพันธ์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการนำใบเสร็จรับเงินตัวจริงมาแสดงเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายจากทางราชการ วันที่ 18 มีนาคม 2543 โรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ มีหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์ขอยกเลิกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2543 เนื่องจากพนักงานของโรงแรมมีความเข้าใจผิดในการออกเอกสารซ้ำให้แก่กรมประชาสัมพันธ์ในยอดเงิน 233,600 บาท วันที่ 4 เมษายน 2543 มีหนังสือขอยกเลิกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีรวม 3 ฉบับ และในวันที่ 5 เมษายน 2543 เจ้าหน้าที่โรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ มีหนังสือร้องเรียนพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่พยายามให้โรงแรมออกใบเสร็จรับเงินที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงทั้งที่มีการจ่ายเงินเพียง 49,060 บาท วันที่ 30 พฤษภาคม 2543 กรมประชาสัมพันธ์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นการรายงานเท็จต่อทางราชการโดยมีเจตนาทุจริตเงินของทางราชการ อันเป็นความผิดฐานร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และถือว่าความผิดดังกล่าวได้กระทำสำเร็จแล้ว สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยวันที่ 12 ธันวาคม 2544 กรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลยทั้งสอง คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนแล้ว มีความเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีโทษไล่ออกจากราชการ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองรับราชการมานานเห็นควรลงโทษให้ปลดออกจากราชการ แต่กรมประชาสัมพันธ์มีคำสั่งให้ลงโทษไล่จำเลยทั้งสองออกจากราชการ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ. ซึ่ง อ.ก.พ. วิสามัญ เกี่ยวกับอุทธรณ์และการร้องทุกข์ทำการแทน ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งลงโทษไล่จำเลยทั้งสองออกจากราชการนั้น สมควรแก่กรณีแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ให้ยกอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองเห็นว่า คำสั่งลงโทษดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไล่จำเลยทั้งสองออกจากราชการ วันที่ 1 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 ฟ้องโรงแรมอมิตี้ กรีนฮิลล์ เชียงใหม่ กับบริษัทนิมนานนรดี ดิเว็ลลอพเม้นท์ จำกัด เป็นจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 22119/2544 ขอให้โรงแรมออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี จำนวน 233,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย 122,000 บาท หรือให้โรงแรมชำระเงิน 355,600 บาท แก่จำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 จ่ายเงิน 233,600 บาท ให้แก่โรงแรม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้โรงแรมออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าว ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับเงินยืมทดรองราชการดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2543 กรมประชาสัมพันธ์ได้รับเงินยืมทดรองราชการคืนจากจำเลยทั้งสองครบถ้วนแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานและต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานและเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ตลอดจนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเงินยืมทดรองราชการเป็นของตนโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ขอเงินยืมทดรองราชการและได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ จำเลยที่ 2 หาได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์ เป็นของตนโดยทุจริตไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า มีเหตุควรรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะอายุมากและเคยทำคุณงามความดีมามาก โดยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่จำเลยทั้งสองอาศัยช่องว่างของกฎระเบียบแล้วเบียดบังเงินไปจำนวนนับแสนบาท หากรอการลงโทษอาจจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาและทางราชการได้รับเงินทั้งหมดกลับคืนไปแล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสองเคยทำคุณงามความดีมามาก จึงเห็นควรลดโทษให้จำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ลดโทษให้จำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์