แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 385 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 385 โดยโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีทั้งสองดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 229 โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกับประชาชนอื่นปิดถนนอันเป็นการกระทำเดียวกับที่จำเลยทั้งสามกับพวกถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาดังกล่าว โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) และปรากฏตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) และสำหรับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) อาจกระทำไปโดยเข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิทำได้เพราะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขยะที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวนำไปฝังกลบ และทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นผู้นำถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร วางขวางถนน แม้ในคดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นผู้เสียหาย จึงถือว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ และส่วนที่วันกระทำผิดตามฟ้องคือวันที่ 29 ธันวาคม 2546 แตกต่างจากคดีนี้นั้น ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าวันที่ 30 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 มีกลุ่มประชาชนนำเต็นท์และสิ่งกีดขวางปิดกั้นถนน โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกากอุตสาหกรรมทำให้น้ำเน่าเสีย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากวันที่ 30 กันยายน 2546 ในคดีนี้ต่อเนื่องกันไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 อันเป็นวันกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้และจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำเดียวและต่อเนื่องกันซึ่งเป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ตรงกัน ทั้งถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับในคดีนี้ และเมื่อคดีดังกล่าวทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 395,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระเงินในอัตราเดือนละ 10,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะหยุดการปิดถนน หรือยินยอมให้รถขนสินค้าของโจทก์แล่นผ่านถนนสายบ้านพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา ได้อย่างปกติสุข และร่วมกันรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากถนนสายบ้านพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา และห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการใดอันเป็นการรบกวนสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน หรือขัดขวางรถขนสินค้าของโจทก์แล่นผ่านถนนสายบ้านพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา ได้อย่างปกติสุข
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้น มาผูกรวมกับสำนวนคดีนี้และเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยจึงมีคำสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายวิรชัย ทายาทของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายที่อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่า ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีในส่วนอาญามาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้หรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 โดยโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีทั้งสองดังกล่าวนอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังถูกพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกับประชาชนอื่นปิดถนนสายบ้านพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา อันเป็นการกระทำเดียวกับที่จำเลยทั้งสามกับพวกถูกพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาดังกล่าว โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) และปรากฏตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) และสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) อาจกระทำไปโดยเข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิทำได้เพราะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขยะที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวนำไปฝังกลบ และทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นผู้นำถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร วางขวางถนนสายบ้านพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา แม้ในคดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นผู้เสียหาย จึงถือว่าพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องคดีแทนโจทก์ และส่วนที่วันกระทำผิดตามฟ้องคือวันที่ 29 ธันวาคม 2546 แตกต่างจากคดีนี้นั้น ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าวันที่ 30 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 มีกลุ่มประชาชนนำเต็นท์และสิ่งกีดขวางปิดกั้นถนนสายบ้านพระพุทธฉาย-บ้านเขาจำปา โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกากอุตสาหกรรมทำให้น้ำเน่าเสีย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากวันที่ 30 กันยายน 2546 ในคดีนี้ต่อเนื่องกันไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 อันเป็นวันกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้และจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำเดียวและต่อเนื่องกันซึ่งเป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ตรงกัน ทั้งถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับในคดีนี้ และเมื่อคดีดังกล่าวทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ ศาลจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษามา จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ