คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18883/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 21 ถึงมาตรา 24 เงินที่ผู้ประกันตนออกสมทบเข้ากองทุนย่อมตกเป็นของสำนักงานประกันสังคมจำเลยแล้ว หาใช่ยังเป็นเงินของผู้ประกันตนอันจะตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ไม่ บุคคลใดจะได้รับประโยชน์ทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 3 กรณีใดหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 บัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 73 (2) ระบุไว้ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย มาตรา 77 จัตวา วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติตัวบุคคลผู้เป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมกำหนดสัดส่วนที่จะได้รับไว้โดยเฉพาะ ไม่นำเอาทายาทตาม ป.พ.พ. มาปรับใช้ ทั้งเงินบำเหน็จชราภาพก็เป็นประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งนำเงินกองทุนประกันสังคมมาจ่ายตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง จึงต้องจ่ายให้แก่บุคคลและตามสัดส่วนที่มาตรา 77 จัตวา บัญญัติไว้โดยเฉพาะเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 4 ที่ รง. 0626/ปย. 12010 และที่ รง. 0626/ปย. 12011 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 658/2551 และที่ 1477/2551
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ที่ รง. 0626/12010 (ที่ถูก รง. 0626/ปย. 12010) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1477/2551 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 บัญญัติว่า ในกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ถ้าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีตาย ดังนี้… (2) เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้…ฯลฯ ดังนั้น เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายแก่เฉพาะบุคคลตามที่ระบุไว้เท่านั้น สิทธิในการได้รับเงินดังกล่าว ไม่ใช่สิทธิของผู้ตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย แต่เป็นสิทธิของบุคคลที่ระบุไว้เท่านั้น ผู้ประกันตนไม่มีสามี ไม่มีบุตร และบิดามารดาของผู้ประกันตนตายไปก่อนแล้ว จึงไม่มีผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยในส่วนนี้ สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพ นางสาวสุภาภรณ์ เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งมาตรา 41 บัญญัติว่า ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนนั้น (1) ตาย…สิทธิในการได้รับบำเหน็จชราภาพจึงเป็นสิทธิของผู้ประกันตนขณะตาย เพราะมาตรา 77 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติยกเว้นกรณีการเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 41 (1) สิทธิในการรับบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 และมาตรา 41 จึงเป็นมรดกของผู้ประกันตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ซึ่งตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประกันตน โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ประกันตน เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (4) จึงมีสิทธิเรียกร้องเงินนี้ได้ กรณีมีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยในส่วนนี้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเป็นเงินที่ผู้ประกันตนส่งสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคมจำเลยเป็นรายเดือนมาก่อนถึงแก่ความตาย จึงเป็นเงินที่ผู้ประกันตนสะสมมาทุกเดือนก่อนตายและเป็นมรดกของผู้ประกันตน เมื่อไม่มีบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามที่มาตรา 73 (2) ระบุไว้ เงินดังกล่าวจึงต้องตกแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 ประกอบมาตรา 1629 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 21 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานประกันสังคม เรียกว่า กองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 3 และเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 24 วรรคสอง มาตรา 22 บัญญัติว่า กองทุนประกอบด้วย (1) เงินสมทบจากรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และมาตรา 46 (2) เงินเพิ่ม… มาตรา 23 บัญญัติว่า เงินกองทุนตามมาตรา 22 ให้เป็นของสำนักงานและไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติต่อไปอีกว่า เงินกองทุนให้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เงินที่ผู้ประกันตนออกสมทบเข้ากองทุนย่อมตกเป็นของสำนักงานประกันสังคมแล้ว หาใช่ยังเป็นเงินของผู้ประกันตนอันจะตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ บุคคลใดจะได้รับประโยชน์ทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 3 กรณีใดหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดไว้เท่านั้น โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตนซึ่งมิใช่บุคคลตามที่มาตรา 73 (2) ระบุไว้ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพอันเป็นประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 (2) หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามที่มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง บัญญัติไว้อันเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่ใช่กรณีมรดกตกทอดทั่ว ๆ ไป จึงนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ไม่ได้ เห็นว่า เงินบำเหน็จชราภาพเป็นประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 (2) ซึ่งมาตรา 77 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 ทวิ ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายในหกสิบเดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ วรรคสองบัญญัติว่า ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นให้ได้รับสองส่วน ถ้าผู้ประกันตนที่ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน (2) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน และ (3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน วรรคสามบัญญัติต่อไปอีกว่า ในกรณีที่ไม่มีทายาทในอนุมาตราใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปเสียก่อน ให้แบ่งเงินตามมาตรา 77 (2) ในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิในอนุมาตราที่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับ จะเห็นได้ว่า มาตรา 77 จัตวา วรรคสองและวรรคสาม ได้กำหนดตัวบุคคลผู้เป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมกำหนดสัดส่วนที่จะได้รับไว้โดยเฉพาะ หาใช่นำเอาทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ไม่ ทั้งเงินบำเหน็จชราภาพก็เป็นประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 (2) ซึ่งนำเงินกองทุนประกันสังคมมาจ่ายตามบทบัญญัติของมาตรา 24 วรรคหนึ่ง จึงต้องจ่ายให้แก่บุคคลและตามสัดส่วนที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา บัญญัติไว้โดยเฉพาะเท่านั้น โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ประกันตน ซึ่งมิใช่บุคคลตามที่มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง บัญญัติไว้ว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ แม้ผู้ประกันตนจะไม่มีทายาทตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง บัญญัติไว้เลย ก็ไม่อาจนำเงินกองทุนประกันสังคมมาจ่ายแก่ทายาทอื่นให้ขัดกับบทบัญญัติมาตรา 24 และมาตรา 77 จัตวา ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ที่ รง. 0626/ปย. 12010 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1477/2551 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share