คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8681/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแสดงสภาพแห่งข้อหาในตอนต้นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร และได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่นบรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย นอกจากอาคารและที่ดินที่ให้เช่า ตามมาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ระบุว่า เฉพาะกรณีที่ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้มีจำนวนสูงเกินสมควรเท่านั้น จึงให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ แต่กรณีนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่า ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงไม่ใช่กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้
สัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 2 นอกจากมีข้อสัญญาอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวคือ ตามสัญญาข้อ 2 วรรคหนึ่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทยยินยอมให้เช่าและโจทก์ผู้เช่าตกลงที่จะเช่าท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือ บี 2 สำหรับพัฒนาบริหารและประกอบการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขดังระบุในสัญญาฉบับนี้และภาคผนวกต่าง ๆ ข้อความตามสัญญาและภาคผนวกล้วนแสดงให้เห็นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยยอมให้โจทก์ใช้ทรัพย์สินและโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษากับเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์และยังมีการกำหนดค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยตามรายละเอียดในภาคผนวก บี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ตามที่ระบุไว้เป็นตัวเลขค่าธรรมเนียมแน่นอนสำหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 12 ของการเช่า ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมคิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องรับกันกับข้อสัญญาการชำระค่าเช่าอันแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์เป็นเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ และแม้การชำระเงินเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญานี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่และค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่คิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวก บี ซึ่งอาจมีบางส่วนที่คิดเป็นค่าตอบแทนในการให้สิทธิโจทก์ได้เข้าดำเนินการท่าเรือเพื่อแสวงหากำไรเป็นของโจทก์ได้ก็ตาม แต่ก็มีค่าธรรมเนียมคงที่ซึ่งอย่างน้อยย่อมคิดในลักษณะเป็นค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าท่าเทียบเรือ บี 2 ด้วย ย่อมแสดงว่าสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์แม้จะมีข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่อย่างน้อยก็มีวัตถุประสงค์ในการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยคิดผลตอบแทนที่ถือเป็นค่าเช่าอยู่ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าในบรรดาวัตถุประสงค์ของสัญญานี้จะมีบางส่วนเป็นสัญญาสัมปทานหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีส่วนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินรวมอยู่ด้วย ย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังกล่าวนี้เป็นอาคารและที่ดินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 ตอนท้าย ซึ่งเป็นบทยกเว้นความตอนต้นของมาตรานี้ จึงมีผลให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในทรัพย์สินดังกล่าว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ภาษีที่จำเลยที่ 1 ประเมินมานั้นสูงเกินส่วนเนื่องจากสูตรในการคำนวณไม่สอดคล้องกับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมิได้คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในสัดส่วนที่ใช้ประโยชน์จริง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินไว้และจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดนั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตาม มาตรา 30 และในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามสมควรตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำเรื่องท่าเทียบเรือ บี 2 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งการประเมินเล่มที่ 36 เลขที่ 45 ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 และคำชี้ขาดเล่มที่ 1 เลขที่ 2 ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี 13,315,465.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือให้ลดภาษีที่เรียกเก็บเพียงไม่เกิน 4,538,910 บาท และให้คืนเงินภาษี 8,776,555.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน เล่มที่ 36 เลขที่ 45 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 และคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 1 เลขที่ 2 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2554 โดยกำหนดค่ารายปี 36,283,515.42 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 4,535,439.43 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 8,780,026.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือ บี 2 ตั้งอยู่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โจทก์ทำสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือบี 2 ณ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าประกอบกิจการท่าเทียบเรือ และตามสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบ การท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือบี 2 กำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับภาระในการชำระค่าภาษีต่าง ๆ ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องจ่ายตามกฎหมาย วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 การท่าเรือแห่งประเทศไทยยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปีภาษี 2553 สำหรับท่าเทียบเรือบี 2 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดค่ารายปีสำหรับท่าเทียบเรือบี 2 จำนวน 106,523,724.44 บาท ค่าภาษี 13,315,465.55 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่พิจารณาแล้ว เห็นว่าการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงแจ้งคำชี้ขาดแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ชำระค่าภาษีให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์มิใช่ผู้รับประเมินตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องคดีในนามตนเองโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย หากการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดและคำชี้ขาดของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แต่การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง และโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นกันนั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในคำชี้ขาด… จะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกก็ได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้น มีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด” เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแสดงสภาพแห่งข้อหาในตอนต้นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่นบรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย นอกจากอาคารและที่ดินที่ให้เช่า ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ระบุว่า เฉพาะกรณีที่ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้มีจำนวนสูงเกินสมควรเท่านั้น จึงให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ แต่กรณีนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่า ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงไม่ใช่กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาที่โจทก์ทำกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นสัญญาให้โจทก์เข้าบริหารและประกอบกิจการท่าเทียบเรือที่สงวนไว้เพื่อกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และท่าเทียบเรือ บี 2 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ให้เช่าจึงได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือบี 2 แล้ว ปรากฏว่านอกจากมีข้อสัญญาอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวคือ ตามสัญญาข้อ 2 วรรคหนึ่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทยยินยอมให้เช่าและโจทก์ผู้เช่าตกลงที่จะเช่าท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือ บี 2 สำหรับพัฒนาบริหารและประกอบการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขดังระบุในสัญญาฉบับนี้และภาคผนวกต่าง ๆ และในภาคผนวก เอ เงื่อนไขของสัญญา ข้อ 1.9 วรรคสอง ระบุว่า “…โจทก์จะต้องจดทะเบียนเป็นสัญญาเช่ากับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจและรับผิดชอบต่อค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน..” ข้อ 2.1 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “สัญญานี้ครอบคลุมถึง การเช่าท่าเทียบเรือ และการให้บริการทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเช่า โดยจะต้องชำระเงินให้แก่ กทท. ตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 3” ข้อ 7.1 “โครงสร้างพื้นฐานที่ กทท. เป็นผู้จัดให้ ประกอบด้วยอุปกรณ์หลักดังต่อไปนี้ ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือ บี 2 ความยาวของท่า 300 เมตร คูณ 350 เมตร สถานีขนถ่ายตู้สินค้า 115.5 เมตร คูณ 40 เมตร ประตู สำนักงาน และโรงซ่อม…” ข้อ 7.2 “…เครื่องมือที่ กทท. จะต้องจัดให้โจทก์ไว้ใช้งานที่ท่าเทียบเรือ บี 2 มีดังต่อไปนี้ ปั้นจั่นหน้าท่ายกตู้สินค้าชนิดเดินบนรางขนาด 40 ตัน 2 คัน สำหรับเรือที่มีความกว้างสูงสุด 32.2 เมตร …” ข้อ 7.4.1 วรรคหนึ่ง “โจทก์ต้องรับผิดชอบในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือทั้งหมดภายในท่าเทียบเรือของตนโดยตลอด…” เงื่อนไขการประกันภัย ข้อ 6 (เอ) โจทก์ต้องทำประกันภัยเต็มจำนวนมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ กทท. หรือโจทก์จัดมาบริการให้ตามที่ระบุในสัญญา โดยระบุให้ กทท. เป็นผู้ได้รับประโยชน์ตามรายการทรัพย์สินต่อท้ายนี้ หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายดังระบุไว้ข้างต้น” และข้อสัญญาการชำระเงินตามข้อ 3.2 กำหนดว่าโจทก์ต้องชำระเงินให้แก่ กทท. ซึ่งได้แก่ค่าธรรมเนียมการเช่าประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งกำหนดไว้คงที่ซึ่งเป็นส่วนของค่าธรรมเนียมการเช่าที่ กทท. เป็นผู้กำหนด และส่วนที่สองคือ ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งโจทก์จะเป็นผู้เสนอให้ กทท. โดยคิดจากจำนวนต่อทีอียูที่บรรทุกขนถ่ายที่ท่าเทียบเรือ กล่าวคือ ตามจำนวนทีอียูทั้งหมดที่ทำการขนถ่าย… รายละเอียดเงื่อนไข การชำระเงินได้ระบุไว้ในภาคผนวก บี หากโจทก์มิได้ชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กทท. มีสิทธิที่จะได้รับการชำระเงิน โดยจะบังคับให้ชำระเงินที่ครบกำหนดชำระได้จากหนังสือค้ำประกันการเช่า และโจทก์จะต้องยื่นหนังสือค้ำประกันการเช่าฉบับใหม่วงเงินเต็มจำนวนภายในสามสิบวัน หากโจทก์มิได้ดำเนินการดังกล่าว กทท. จะบอกเลิกสัญญาเช่า อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์เอง ซึ่งข้อความตามสัญญาและภาคผนวกดังกล่าวล้วนแสดงให้เห็นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยยอมให้โจทก์ใช้ทรัพย์สินและโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษากับเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์และยังมีการกำหนดค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยตามรายละเอียดในภาคผนวก บี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ตามที่ระบุไว้เป็นตัวเลขค่าธรรมเนียมแน่นอนสำหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 12 ของการเช่า ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมคิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องรับกันกับข้อสัญญาการชำระค่าเช่าตาม ข้อ 3.2 ดังกล่าวข้างต้น อันแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์เป็นเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ และแม้การชำระเงินเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญานี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่และค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่คิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวก บี ซึ่งอาจมีบางส่วนที่คิดเป็นค่าตอบแทนในการให้สิทธิโจทก์ได้เข้าดำเนินการท่าเรือเพื่อแสวงหากำไรเป็นของโจทก์ได้ก็ตาม แต่ก็มีค่าธรรมเนียมคงที่ซึ่งอย่างน้อยย่อมคิดในลักษณะเป็นค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าท่าเทียบเรือบี 2 ด้วย ย่อมแสดงว่าสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์แม้จะมีข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่อย่างน้อยก็มีวัตถุประสงค์ในการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยคิดผลตอบแทนที่ถือเป็นค่าเช่าอยู่ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าในบรรดาวัตถุประสงค์ของสัญญานี้จะมีบางส่วนเป็นสัญญาสัมปทานดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีส่วนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินรวมอยู่ด้วย ย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังกล่าวนี้เป็นอาคารและที่ดินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 ตอนท้าย ซึ่งเป็นบทยกเว้นความตอนต้นของมาตรานี้ จึงมีผลให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในทรัพย์สินดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ท่าเทียบเรือ บี 2 เป็นทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของสาธารณะโดยตรงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น โจทก์มิได้ฟ้องประเด็นนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการประเมินกำหนดค่ารายปีของท่าเทียบเรือ บี 2 สูงเกินสมควรหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ภาษีที่จำเลยที่ 1 ประเมินมานั้นสูงเกินส่วนเนื่องจากสูตรในการคำนวณไม่สอดคล้องกับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมิได้คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในสัดส่วนที่ใช้ประโยชน์จริง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ประเมินไว้และจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดนั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 และในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามสมควรตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำเรื่องท่าเทียบเรือ บี 2 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย อุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและกำหนดค่ารายปีใหม่โดยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share