คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6815/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คือ การลดอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ลงกึ่งหนึ่งแล้วจึงลงโทษ มิใช่ศาลกำหนดโทษลงไว้ก่อนแล้วจึงลดมาตราส่วนโทษจากโทษที่ลงไว้ และความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ บัญญัติให้ลงโทษปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว มิใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคล คนละเท่าๆ กัน เมื่อจำเลยถูกฟ้อง จำเลยจึงเป็นบุคคลเดียวที่ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดและต้องถูกลงโทษตามคำพิพากษา บุคคลอื่นที่ร่วมกระทำความผิด เมื่อยังไม่ถูกฟ้องย่อมไม่อาจถือเป็นผู้กระทำความผิดอันจะถูกลงโทษตามคำพิพากษาคดีนี้ได้ กรณีไม่อาจแบ่งแยกลดจำนวนความรับผิดสำหรับโทษปรับครั้งนี้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2545 เวลาประมาณ 18.40 นาฬิกา จำเลยกับพวกอีก 2 คน ซึ่งตามการสอบสวนยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งบุหรี่ซิกาแรต ตรามาร์โบโร จำนวน 30,500 ซอง ราคา 305,000 บาท ต้องเสียอากรเป็นเงิน 189,100 บาท ซึ่งเป็นของผลิตในต่างประเทศ โดยซ่อนเร้นบุหรี่ดังกล่าวไว้ในเรือหางยาวโดยรู้อยู่แล้วว่าสิ่งของดังกล่าวเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและไม่ได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายและร่วมกันมีบุหรี่ซิกาแรตดังกล่าวน้ำหนัก 640,500 กรัม อันเป็นยาสูบตามกฎหมายที่ผลิตในต่างประเทศและมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบทั้งหมด ซึ่งต้องปิดแสตมป์ยาสูบซองละ 26.25 บาท รวมเป็นเงิน 800,625 บาท ไว้ในครอบครองเพื่อขาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขณะกระทำความผิดอายุ 14 ปี 6 เดือน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ, 32 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 75, 83, 90 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ, 32 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19, 24, 44, 49, 50 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามและข้อจำกัดซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับรวมเป็นเงิน 1,976,400 บาท เนื่องจากตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกอีก 2 คน ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวจึงให้ลงโทษปรับจำเลยเพียง 1 ใน 3 โดยให้ปรับเป็นเงิน 658,800 บาท ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงปรับเป็นเงิน 329,400 บาท อนึ่ง หากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลามีกำหนด 6 เดือน ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 107 ริบบุหรี่รวมทั้งหีบห่อของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต ริบเรือหางยาวพร้อมเครื่องยนต์ของกลาง และให้จำเลยจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และ 8 (ที่ถูกมาตรา 8 วรรคสอง)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง และให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิดร้อยละยี่สิบของราคาของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “อนึ่ง ในการลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คือ การลดอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ลงกึ่งหนึ่งแล้วจึงลงโทษ หาใช่ศาลกำหนดโทษลงไว้ก่อนแล้วจึงลดมาตราส่วนโทษจากโทษที่ลงไว้หาได้ไม่ และความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ บัญญัติให้ลงโทษปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว มิใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคล คนละเท่าๆ กัน เมื่อจำเลยถูกฟ้อง จำเลยจึงเป็นบุคคลเดียวที่ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดและต้องถูกลงโทษตามคำพิพากษา บุคคลอื่นที่ร่วมกระทำความผิดเมื่อยังไม่ถูกฟ้องย่อมไม่อาจถือเป็นผู้กระทำความผิดอันจะถูกลงโทษตามคำพิพากษาคดีนี้ได้ กรณีไม่อาจแบ่งแยกลดจำนวนความรับผิดสำหรับโทษปรับครั้งนี้แก่จำเลย ดังนั้น เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ต้องปรับจำเลยสองเท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 988,200 บาท การที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยหนึ่งในสามเป็นเงิน 658,800 บาท จากเงินค่าปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว (เป็นเงิน 1,976,400 บาท) แล้วจึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงปรับเป็นเงิน 329,400 บาท จึงไม่ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษปรับให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ, 32 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19, 24, 44, 49, 50 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ขณะกระทำความผิด จำเลยอายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้วคงปรับ 988,200 บาท แต่ให้บังคับโทษปรับเป็นเงิน 329,400 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนด 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 107 ริบบุหรี่รวมทั้งหีบห่อของกลางเป็นของกรมสรรพสามิตริบเรือหางยาวพร้อมเครื่องยนต์ของกลาง และให้จำเลยจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และ 8 วรรคสอง

Share