แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครกระทำจนถึงแก่ความตายหรือจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แม้พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าคนใดในกลุ่มของจำเลยเข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและฟันผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสก็ตาม ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 พวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและผู้เสียหายได้ใช้มีดแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหาย จำเลยซึ่งมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานะเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 288 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83, มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ริบมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่อาวุธมีดของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงที่บริเวณหน้าอกขวานายเฉลียว ผู้ตาย อาวุธมีดปักคาอกอยู่ ทำให้มีเลือดคั่งในเยื่อหุ้มปอดข้างขวา เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และใช้อาวุธมีดฟันนายวิทยา ผู้เสียหาย ถูกบริเวณแขนทั้งสองข้างหลายแห่ง มีบาดแผลฉีกขาด กระดูกแขนข้างซ้ายหัก กระดูกมือขวาหัก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตรวจยึด ได้มีดปลายแหลมด้ามไม้ 1 เล่ม จากที่เกิดเหตุและมีดปลายแหลม 1 เล่ม จากศพของผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า กรณีเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้ตายเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้จนถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 และ 299 เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288 จึงต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยไม่ได้แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า กรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 และ 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครกระทำจนถึงแก่ความตายหรือจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แม้พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า คนใดในกลุ่มของจำเลยเข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและฟันผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสก็ตาม ย่อมมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 และ 299 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและผู้เสียหายได้ใช้มีดแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหาย จำเลยซึ่งมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานะเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น