คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัย น. ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมกับทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงข้างหลัง ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ร่างกายล่ำกำยำ สูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิง กำลังศึกษา ย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้ 240 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเอง หรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป
การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278, 281, 295, 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สร้อยคอทองคำ 10,740 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหากระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 295, 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าสาธารกำนัล จำคุก 3 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายและจิตใจ กับฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานกระทำอนาจารฯ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ฯ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี รวมจำคุก 13 ปี 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินหรือใช้ราคาทรัพย์ 10,740 บาท แก่ผู้เสียหาย เนื่องจากจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 60,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดอีก คำขอในส่วนนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทำร้ายร่างกายและกระทำอนาจารนางสาว อ. ผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อย ตบตีผู้เสียหายที่ใบหน้า ลำตัวและศีรษะหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์และภาพถ่ายประกอบคดี สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารผู้อื่นและทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 6 นาฬิกา ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลัง สอบถามผู้เสียหายว่ามีสายชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือไม่ ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยถามว่ามีเงินเท่าใด ผู้เสียหายตอบว่ามี 240 บาท จำเลยเข้าประชิดตัวผู้เสียหายมากขึ้น ผู้เสียหายเปิดกระเป๋ายื่นเงินให้จำเลย จำเลยยื่นมือขวามารับเงินจากผู้เสียหาย ส่วนมือซ้ายทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงด้านหลัง หลังจากรับเงินแล้ว จำเลยจับแขนผู้เสียหายไว้ ผู้เสียหายใช้หมวกนิรภัยตีจำเลย จำเลยต่อยที่ท้อง ลำตัว และศีรษะผู้เสียหาย แล้วฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายไปที่ลานจอดรถอีกช่องหนึ่งซึ่งมีรถกระบะจอดอยู่ จำเลยผลักและเหวี่ยงผู้เสียหายที่พื้นและบอกให้ถอดกางเกง ผู้เสียหายขัดขืนดึงกางเกงไว้ จำเลยกอดปล้ำและพยายามดึงกางเกงผู้เสียหายออก ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืน จึงถอดสร้อยคอทองคำน้ำหนัก 50 สตางค์ ที่สวมอยู่ให้จำเลยไป โดยคิดว่าเมื่อจำเลยได้สร้อยแล้วจะปล่อยตัวผู้เสียหาย หลังจากจำเลยเอาสร้อยคอไปแล้ว ผู้เสียหายพยายามลุกขึ้นจะหลบหนี แต่จำเลยกระชากผู้เสียหายไว้และชกต่อยผู้เสียหายอีก จำเลยถอดกางเกงขายาวและกางเกงชั้นในของผู้เสียหายออก แล้วใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายและพยายามใช้นิ้วสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ผู้เสียหายขัดขืนและร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ จำเลยใช้มือบีบคอผู้เสียหาย ระหว่างนั้นมีชายเก็บขยะเดินมา จำเลยจึงปล่อยตัวผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความโดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นลำดับขั้นตอนสมเหตุสมผล ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ข้อระแวงว่าจะแกล้งเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยก็ไม่มี คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุไม่นาน เชื่อว่าจำเลยให้การไปตามจริงโดยไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งให้ตนเองพ้นผิด เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายแล้วย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ อีกทั้งจำเลยยังเบิกความรับว่าได้พูดขอยืมสายชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้เสียหายและรับเงินที่ผู้เสียหายส่งให้จริง อันเป็นการเบิกความเจือสมกับคำเบิกความของผู้เสียหาย ยิ่งสนับสนุนให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักรับฟังมากขึ้น ที่จำเลยนำสืบทำนองว่า ผู้เสียหายส่งเงินให้จำเลยเอง มีเพียงจำเลยเบิกความลอย ๆ ทั้งยังขัดต่อเหตุผลที่ไม่ปรากฏว่าเพราะเหตุใดผู้เสียหายจะส่งเงินให้ หากจำเลยไม่สอบถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใดดังที่ผู้เสียหายเบิกความ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเข้ามาทางด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมทั้งทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงด้านหลัง ซึ่งลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จำเลยมีร่างกายล่ำกำยำ และสูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิงและกำลังศึกษาย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เห็นได้ว่าเพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลยนั่นเอง เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้เพราะเกิดความกลัวเนื่องจากถูกจำเลยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท ของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (2) วรรคสาม ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป และการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุแล้วชิงทรัพย์ของผู้เสียหายไป ย่อมเป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี สำหรับสร้อยคอทองคำนั้น ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมอยู่ให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่าเมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายดังที่ผู้เสียหายเบิกความ การที่จำเลยรับเอาสร้อยคอทองคำจากผู้เสียหายไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลังการกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า นอกจากจำเลยมีเจตนาชิงเงินของผู้เสียหายแล้ว จำเลยยังลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายอันเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกัน เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (เดิม) อีกกระทงหนึ่ง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share