แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้วกรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรให้เกษตรกรทำกินตามกฎหมาย ดังนั้น หากเป็นกรณีที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นตามที่กล่าวอ้างก็เป็นการซื้อขายที่ดินของรัฐ ไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ และหากประสงค์จะขอเข้ารับการจัดสรรที่ดินต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และมาตรา 36 ทวิ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินรวมทั้งได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 ไม่ จึงเป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไปว่าผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 ที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 90, 91 และให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1654/2557, 1680/2557, 1696/2557, 1810/2557, 1811/2557, 1813/2557, 1889/2557 และ 494/2558 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1470/2558 และหมายเลขแดงที่ 1295/2559 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เดิม) ให้จำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1810/2557 หมายเลขแดงที่ 1264/2559 ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1889/2557 หมายเลขแดงที่ 1265/2559 ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1680/2557 หมายเลขแดงที่ 1345/2559 ของจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1811/2557 หมายเลขแดงที่ 1346/2559 ของจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1813/2557 หมายเลขแดงที่ 1347/2559 ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1654/2557 หมายเลขแดงที่ 1353/2559 ของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1696/2557 หมายเลขแดงที่ 1354/2559 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 494/2558 ของศาลชั้นต้น และของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1295/2559 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกนั้น คดีอาญาหมายเลขดำที่ 494/2558 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1295/2559 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก ศาลรอการลงโทษจำคุกจำเลย คำขอส่วนนี้จึงให้ยก ยกฟ้องโจทก์ข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาได้ว่า โจทก์และจำเลยเคยเป็นสามีภริยากันมาก่อน ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ 96 ตารางวา อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แปลงเลขที่ 118 ระวาง 5142 IV 8678 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 จำเลยทำบันทึกการนำทำการรังวัด โดยระบุว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และจำเลยนำเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทำการรังวัดปักหลักเขตที่ดินในฐานะผู้ถือครองที่ดิน ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2553 โจทก์ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่า โจทก์ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 6 แปลง คือ แปลงเลขที่ 171 ระวาง 5142 I 9076 แปลงเลขที่ 28 ระวาง 5142 I 9076 แปลงเลขที่ 28 ระวาง 5142 I 9276 แปลงเลขที่ 118 ระวาง 5142 IV 8678 แปลงเลขที่ 80 ระวาง 5142 I 9076 และแปลงเลขที่ 29 ระวาง 5142 I 9076 แต่ทราบภายหลังว่าจำเลยมาขึ้นชื่อเป็นของตนเอง จึงขอคัดค้านการออกเอกสารสิทธิและขอให้สอบสวนข้อเท็จจริง ครั้นวันที่ 30 เมษายน 2554 โจทก์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนครไทยว่า โจทก์มีที่ดินอยู่ที่ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 15 แปลง เนื้อที่ทั้งหมด 548 ไร่ ไม่ได้ให้บุคคลใดเช่าหรือจำหน่ายจ่ายโอน แต่มีบุคคลยื่นขอเอกสารสิทธิต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงแจ้งเป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เดิม) ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ดังนั้นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับความผิดที่จำเลยอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้องนั้น ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่า ซื้อมาจากนางละเอียด มีเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ ตามหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ตาม ภ.บ.ท.5 ซึ่งตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ยอมรับว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของนายณัฐพล เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดพิษณุโลก พยานโจทก์ที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยได้ความว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินในความดูแลของกรมป่าไม้ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมามีสภาพเสื่อมโทรม กรมป่าไม้จึงมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรให้เกษตรกรทำกินตามกฎหมาย ประกอบกับโจทก์ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาแสดง คงมีแต่เพียงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตาม ภ.บ.ท.5 เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะมิใช่หลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว ยังเป็นเพียงการรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะท้าว ที่เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ในระดับตำบล ซึ่งหากมีผู้เสียภาษีก็รับชำระไว้ก่อน ไม่มีการตรวจสอบอย่างแน่ชัดว่ามีการครอบครองจริงหรือไม่เพียงใด อีกทั้งไม่มีการระบุรูปแผนที่ และที่ดินข้างเคียงอย่างแน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ และอ้างหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตาม ภ.บ.ท.5 ของนางละเอียดเจ้าของเดิม ซึ่งมีเนื้อที่แตกต่างจากรูปแผนที่แปลงที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ค่อนข้างมาก หากมีการรับฟังพยานหลักฐานเช่นนี้ ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและมีการนำหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตาม ภ.บ.ท.5 ไปอ้างเป็นหลักฐานในการซื้อขายที่ดิน อันเป็นบิดเบือนแนวทางการพิสูจน์สิทธิในที่ดินซึ่งต้องผ่านกระบวนการทางเจ้าพนักงานที่ดิน ดังนี้ ศาลฎีกาไม่รับฟังหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตาม ภ.บ.ท. 5 ดังกล่าวที่โจทก์อ้าง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้วกรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรให้เกษตรกรทำกินตามกฎหมาย ดังนั้นหากเป็นกรณีที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นตามที่กล่าวอ้างก็เป็นการซื้อขายที่ดินของรัฐ ไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ และหากประสงค์จะขอเข้ารับการจัดที่ดินต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และมาตรา 36 ทวิ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ พ.ศ.2535 ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินรวมทั้งได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายในการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพเท่านั้น แม้จะมีข้อผ่อนผันให้ผู้มีที่ดินจำนวนมากสามารถกระจายสิทธิให้แก่บุคคลอื่นได้ก็ตาม อีกทั้งยังปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีการโต้แย้งการครอบครองระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเคยเป็นสามีภริยากันและยังมิได้มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 ให้แก่ผู้ใด จึงเป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไปว่าผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 ที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน