คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินรางวัลพิเศษเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติอย่างเดียวกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ย่อมเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงานฯ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ออกจากงาน เงินรางวัลพิเศษจึงเป็นค่าจ้างปกติตามที่นิยามไว้ในคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม อันต้องนำไปรวมคำนวณเงินบำเหน็จ การที่จำเลยประกาศว่าเงินรางวัลพิเศษไม่ถือเป็นค่าจ้างตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมและโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านนั้น ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงตามประกาศนั้น จึงถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์รวม 22 คน จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอ้างว่าเงินรางวัลพิเศษมิใช่ค่าจ้างอันจะนำมาคำนวณเงินบำเหน็จ พิเคราะห์แล้วคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ลงวันที่ 22 กันยายน 2501 เรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชยเงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพและบำเหน็จพนักงานคนงานโรงงานสุรา พ.ศ. 2501 ซึ่งจำเลยต้องนำมาใช้ตามสัญญาเช่าในการให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงานคนงานของโรงงานสุรา กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่จำเลยรับโอนมากำหนดในข้อ 31 วรรคแรกว่า “เงินบำเหน็จให้จ่ายคราวเดียวเท่ากับค่าจ้างปกติในเดือนสุดท้ายของปีที่ออกหรือตายปีละ 1 เดือน” และคำว่า “ค่าจ้างปกติ” ได้นิยามไว้ในข้อ 4 ว่า “หมายความว่า ค่าจ้างที่ได้รับตามข้อตกลงในการทำงานในเวลาทำงานปกติ ดังมีบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยแรงงาน ไม่รวมค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มเพราะการทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดงานหรือเงินอื่นทำนองนี้” ได้ความว่าเงินรางวัลพิเศษจำเลยประสงค์จะจ่ายให้โจทก์ในการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างแต่เนื่องจากโจทก์แต่ละคนได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มอัตรา เกินอัตราหรือไม่มีอัตราของทางราชการที่จะเลื่อนได้อีก จำเลยจึงได้จ่ายเงินให้โจทก์ในรูปของเงินรางวัลพิเศษแทน โดยเงินรางวัลพิเศษนี้ก็มีขั้นวิ่งเหมือนเงินเดือน ดังนี้เห็นว่าเงินรางวัลพิเศษเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติอย่างเดียวกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ย่อมเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้างการใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้างและการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2501 ข้อ 3 แก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2507) ลงวันที่ 23 มีนาคม 2507 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 ที่ 13 ถึงที่ 17 ที่ 21 ที่ 22 ออกจากงาน และเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ที่ 3 ที่ 7 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 18 ถึงที่ 20 ออกจากงาน เงินรางวัลพิเศษจึงเป็นค่าจ้างปกติตามที่นิยามไว้ในข้อ 4 แห่งคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น อันต้องนำไปรวมคำนวณเงินบำเหน็จตามข้อ 31 ส่วนที่ปรากฏว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมยินยอมให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษแก่พนักงานคนงานได้ แต่กำหนดไว้ว่าเงินรางวัลพิเศษไม่ผูกพันอัตราเงินเดือนของทางราชการนั้น มีความหมายเพียงไม่ให้ถือว่าเงินรางวัลพิเศษเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ทางราชการต้องจ่ายเมื่อพนักงานคนงานเหล่านั้นโอนกลับไปสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามเดิมเท่านั้น หาได้มุ่งหมายตกลงกับจำเลยว่าเงินรางวัลพิเศษไม่เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและไม่เป็นค่าจ้างปกติตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ไม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินรางวัลพิเศษเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และเป็นค่าจ้างปกติตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า ในการจ่ายเงินรางวัลพิเศษโจทก์ได้ประกาศให้พนักงานคนงานทราบแล้วว่า เงินรางวัลพิเศษไม่ถือเป็นค่าจ้างตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 และจะไม่นำเงินรางวัลพิเศษมารวมคำนวณเงินบำเหน็จ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านตลอดมาทั้งได้รับเงินบำเหน็จที่ไม่นำเงินรางวัลพิเศษมารวมคำนวณไปแล้ว ถือได้ว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่ ให้จ่ายเงินบำเหน็จโดยมีหลักเกณฑ์แตกต่างไปจากคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะให้นำเงินรางวัลพิเศษมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อคิดบำเหน็จอีก พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การไม่โต้แย้งคัดค้านประกาศและรับเงินบำเหน็จไปแล้วในกรณีเช่นนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการตกลงตามประกาศนั้น จึงจะถือว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่ดังจำเลยอ้างมิได้”

พิพากษายืน

Share