คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7497-7502/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117… ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท” ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท ประกอบกับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อตามฟ้องทั้งหกสำนวนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในสำนวนที่หนึ่งและที่สองคิดเป็นเนื้อที่ 962 ตารางเมตร และ 210 ตารางเมตร จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในสำนวนที่สามคิดเป็นเนื้อที่ 342 ตารางเมตร จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในสำนวนที่สี่คิดเป็นเนื้อที่ 399 ตารางเมตร จำเลยที่ 4 กระทำความผิดในสำนวนที่ห้าคิดเป็นเนื้อที่ 418.20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 5 กระทำความผิดในสำนวนที่หกคิดเป็นเนื้อที่ 1,251.05 ตารางเมตร ดังนี้จำเลยที่ 1 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 9,620,000 บาท และ 2,100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 3,420,000 บาท, 3,990,000 บาท, 4,182,000 บาท และ 12,510,500 บาท ตามลำดับ จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับเกินอำนาจของศาลแขวงพัทยา เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดฐานอื่นตามฟ้องทั้งหกสำนวนของโจทก์จะอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพัทยา แต่ปรากฏว่าคดีความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ทั้งหกสำนวนไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งหกสำนวนนี้ต่อศาลจังหวัดพัทยา และศาลจังหวัดพัทยาใช้ดุลพินิจรับฟ้องคดีทั้งหกสำนวนไว้พิจารณาและพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19/1 ที่เพิ่มเติมใหม่ จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยในสำนวนที่สามว่าจำเลยที่ 2 เรียกจำเลยในสำนวนที่สี่ว่าจำเลยที่ 3 เรียกจำเลยในสำนวนที่ห้าว่าจำเลยที่ 4 และเรียกจำเลยในสำนวนที่หกว่าจำเลยที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117, 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 83 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2, 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ.2478 มาตรา 3, 4, 6, 7 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3117/2559 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3118/2559 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งห้าและบริวารออกจากที่ดิน กับรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกจากที่ดิน พร้อมทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิม
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 (เดิม) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), (2), (3) (ที่ถูกไม่มี (1), (2), (3)), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยเขตรักษาความปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ.2478 มาตรา 6, 7 (3) ฐานบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อยึดถือการครอบครอง ฐานเข้าไปยึดถือ ก่นสร้าง และทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด ที่ทราย หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดินโดยเฉพาะ ฐานบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างลงในบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ ใต้น้ำ ของทะเลในน่านน้ำไทยและชายหาดของทะเลโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเข้าไปยึดถือ ก่นสร้าง และทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินที่หิน ที่กรวด ที่ทราย หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 คงจำคุก 1 ปีและปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งห้าและบริวารออกไปจากที่ดิน และให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนเขื่อนคอนกรีตเรียงหินของรีสอร์ทประภาคาร 1 ขนาดกว้าง 26 เมตร ยาว 37 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 962 ตารางเมตร และเขื่อนคอนกรีตเรียงหินของรีสอร์ทประภาคาร 2 ขนาดกว้าง 25 เมตร ยาว 34 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 210 ตารางเมตร ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารคอนกรีตโดยสร้างร้านอาหารซีฟู๊ด พื้นที่กว้าง 9 เมตร ยาวประมาณ 38 เมตร คิดเป็นเนื้อที่รุกล้ำ 342 ตารางเมตร ให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนอาคารคอนกรีต กว้าง 10.50 เมตร ยาวประมาณ 38 เมตร คิดเป็นเนื้อที่รุกล้ำ 399 ตารางเมตร ให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนอาคารคอนกรีต 2 ชั้นกว้าง 20.40 เมตร ยาว 20.50 เมตร และชานคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 9 เมตร ยาว 20.40 เมตร รวมทั้งสิ้น 20.40 เมตร ยาว 29.50 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 418.20 ตารางเมตร และให้จำเลยที่ 5 รื้อถอนอาคารคอนกรีต 2 หลัง หลังแรก กว้าง 10.70 เมตร ยาว 86.50 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 925.55 ตารางเมตร และอาคารหลังที่ 2 กว้าง 10.50 เมตร ยาว 31 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 325.50 ตารางเมตร รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,251.05 ตารางเมตร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่นที่จำเลยทั้งห้าก่อสร้างออกจากที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิม ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3118/2559 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษทั้งสองคดี จึงไม่อาจนับโทษจำคุกต่อได้ คำขอนี้จึงให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งห้าว่า ศาลจังหวัดพัทยามีคำสั่งรับฟ้องคดีทั้งหกสำนวนไว้พิจารณาพิพากษามาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117… ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท” ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาทประกอบกับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อตามฟ้องทั้งหกสำนวนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในสำนวนที่หนึ่งและสองคิดเป็นเนื้อที่ 962 ตารางเมตร และ 210 ตารางเมตร จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในสำนวนที่สามคิดเป็นเนื้อที่ 342 ตารางเมตร จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในสำนวนที่สี่คิดเป็นเนื้อที่ 399 ตารางเมตร จำเลยที่ 4 กระทำความผิดในสำนวนที่ห้าคิดเป็นเนื้อที่ 418.20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 5 กระทำความผิดในสำนวนที่หกคิดเป็นเนื้อที่ 1,251.05 ตารางเมตร ดังนี้จำเลยที่ 1 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 9,620,000 บาท และ 2,100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 3,420,000 บาท, 3,990,000 บาท, 4,182,000 บาท และ 12,510,500 บาท ตามลำดับ จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับเกินอำนาจของศาลแขวงพัทยา เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแม้ความผิดฐานอื่นตามฟ้องทั้งหกสำนวนของโจทก์จะอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพัทยา แต่ปรากฏว่าคดีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ทั้งหกสำนวนไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งหกสำนวนนี้ต่อศาลจังหวัดพัทยา และศาลจังหวัดพัทยาใช้ดุลพินิจรับฟ้องคดีทั้งหกสำนวนไว้พิจารณาและพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19/1 ที่เพิ่มเติมใหม่ จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share