คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ส่วน รวม 4 ส่วนในเจ็ดส่วน คิดเป็นเงินรวม 204,000 บาท เท่ากับคนละ 50,100 บาท แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลล่างวินิจฉัยว่า นายอินทร์เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2526 จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยมิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสี่หรือทายาทอื่น ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2540 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่นายอินทร์เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนลงชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4100 ตำบลกุดจอก อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา คนละหนึ่งในเจ็ดส่วน แล้วจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ภายใน 30 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์จากกันได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละหนึ่งในเจ็ดส่วนของราคาที่ดิน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยต่างเป็นบุตรของนายอินทร์และนางชา ยิ้มนอก โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน นางชามารดาถึงแก่ความตายเมื่อปี 2517 ส่วนนายอินทร์บิดาถึงแก่ความตายในปี 2526 ก่อนถึงแก่ความตาย นายอินทร์มิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก โดยนายอินทร์มีทรัพย์มรดกที่จะตกทอดแก่ทายาททั้ง 7 คน เป็นที่ดิน 3 แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดจอก อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 11/2498 เอกสารหมาย จ.3 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 15 เอกสารหมาย จ.4 และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4100 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ที่ 4 และจำเลยต่างยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายอินทร์ โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2533 ตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.7 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2533 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวตามสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 ส่วนที่โจทก์ที่ 4 ศาลชั้นต้นมีคำสั้งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.6 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่มีเพียงว่า คดีโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ส่วน รวม 4 ส่วนในเจ็ดส่วน คิดเป็นเงินรวม 204,000 บาท เท่ากับคนละ 50,100 บาท แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คดีนี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกตามฟ้องแต่ผู้เดียวนับแต่นายอินทร์เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสี่และทายาทอื่น ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลล่างวินิจฉัยว่า นายอินทร์เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2526 จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสี่หรือทายาทอื่น ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2540 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่นายอินทร์เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share