แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ค่าเช่าซื้อรถขุดไฮดรอลิกที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญาและโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาที่มีต่อกัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์เพิ่งรับรถคืนจากจำเลยที่ 1 ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่างวดถึง 8 งวด จะถือว่าโจทก์มีส่วนร่วมในความเสียหายด้วยหาได้ไม่เพราะในการประกอบธุรกิจย่อมเป็นได้ที่โจทก์ประสงค์จะผ่อนปรนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าของตนได้
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 470,130.84 บาท จำเลยทั้งสามอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งว่าต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายไม่เกิน 120,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแต่ละชั้นศาลจึงมีเพียง 350,130.84 บาท แต่จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 470,130.84 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสาม แต่ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเนื่องจากศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขึ้นศาลในส่วนนี้จึงต้องคืนแก่จำเลยที่ 2 เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ค่าขาดประโยชน์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ได้ออกทดรองไปรวมเป็นเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 470,130.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้เช่าซื้อรถขุดไฮดรอลิกหมายเลขรถ YNT – 0169 หมายเลขเครื่องยนต์ 6 D 34 – 061377 ไปจากโจทก์ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 3,350,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระราคาบางส่วนจำนวน 134,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยราคาที่เหลือจำนวน 3,216,000 จำเลยที่ 1 ตกลงชำระเป็นรายงวดทุกเดือนรวม 24 งวด งวดละ 134,000 บาท เริ่มงวดแรกภายในวันที่ 15 เมษายน 2540 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่างวดเพียง 3 งวด โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสามตามหนังสือบอกเลิกสัญญาและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.16 และได้รับรถขุดไฮดรอลิกคันดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกว่า ค่าเช่าซื้อจำนวน 8 งวด ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา และโจทก์มีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 เอกสารหมาย จ.6 โดยศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เป็นเงิน 400,000 บาท สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า แม้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญาและโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาที่มีต่อกัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์จากรถขุดไฮดรอลิกที่เช่าซื้อเป็นเวลา 8 เดือน โดยค้างชำระค่าเช่าซื้อซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับชำระค่าเช่าซื้อ 8 งวด ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 1,072,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา อีกทั้งรถขุดไฮดรอลิกคันดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 ใช้งานไปถึง 1,618 ชั่วโมงทำงาน ส่วนการที่โจทก์เพิ่งรับรถคืนจากจำเลยที่ 1 ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่างวดถึง 8 งวด จะถือว่าโจทก์มีส่วนร่วมในความเสียหายดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะในการประกอบธุรกิจย่อมเป็นได้ที่โจทก์ประสงค์จะผ่อนปรนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าของตนเพื่อเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ที่จะไม่ต้องถูกบอกเลิกสัญญา ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 400,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 70,130.84 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากร เพราะโจทก์มิได้รับชำระค่างวด 8 งวด จากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่างวด 8 งวด ดังกล่าวนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีในประเด็นข้อนี้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะโจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการประกอบกิจการของโจทก์ ดังนี้ เหตุที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกาจึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 470,130.84 บาท จำเลยทั้งสามอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งว่าต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายไม่เกิน 120,000 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแต่ละชั้นศาลจึงมีเพียง 350,130.84 บาท แต่จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ และจำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 470,130.84 บาท จึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 350,130.84 บาท แก่จำเลยทั้งสาม แต่สำหรับทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเนื่องจากศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 70,130.84 บาท ค่าขึ้นศาลในส่วนนี้จึงต้องคืนแก่จำเลยที่ 2 เช่นกัน โดยต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 280,000 บาท แก่จำเลยที่ 2”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,500 บาท แทนโจทก์ โดยคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แก่จำเลยทั้งสาม และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 4,752.50 บาท แก่จำเลยที่ 2