แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในมูลหนี้ตามที่จำเลยออกเช็คพิพาท และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เมื่อสิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายในมูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทระงับสิ้นไป ไม่ว่าผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ กรณีถือได้ว่าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 วันที่ 21 กรกฎาคม 2546 และวันที่ 6 สิงหาคม 2546 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหน้าพระลาน 3 ฉบับ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546 วันที่ 19 มกราคม 2547 และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 สั่งจ่ายเงิน 144,150 บาท 34,400 บาท และ 117,600 บาท ตามลำดับ มอบให้บริษัทตั้งเซียะปิงโลหะกิจ จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้ากระทะล้อรถยนต์ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย และโปรดติดต่อผู้เสียหายการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เช็คฉบับแรกและเช็คฉบับที่สาม จำคุกกระทงละ 2 เดือน เช็คฉบับที่สอง จำคุก 1 เดือน รวม 3 กระทงเป็นจำคุก 5 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏตามฎีกาของจำเลยประกอบสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้ลงวันที่ 6 มกราคม 2547 สำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2253/2547 หมายเลขแดงที่ 2510/2547 ของศาลชั้นต้น สำเนาหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว เอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 และ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานศาลรับรองความถูกต้องและโจทก์มิได้แก้ฎีกาโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ผู้เสียหายทั้งหมดรวมทั้งมูลหนี้ตามเช็คพิพาท ต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นให้ชำระเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ ในที่สุดผู้เสียหายและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว มีปัญหาว่าคดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 เห็นว่า การที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในมูลหนี้ตามที่จำเลยออกเช็คพิพาท และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เมื่อสิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายในมูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นระงับสิ้นไปและผู้เสียหายได้สิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ กรณีถือได้ว่าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2543 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลย”
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ.