คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นการฟ้องเรียกให้ได้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสี่ คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นคดีที่มีคำปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาท และโจทก์ทั้งสี่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระค่าขาดประโยชน์จำนวน 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ด้วย จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตนเมื่อที่ดินทรัพย์มรดกที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมามีราคา 201,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคนตามส่วนเท่าๆ กัน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอนที่ดินมรดกไปเป็นของจำเลยทั้งสี่และ ค. หรือจัดการอย่างใดก็ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดก โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้รับมรดก เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้หยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องที่ฝ่าฝืนและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ให้โอนที่ดินดังกล่าวแก่ ค. แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหานี้ก็ดี ล้วนแต่เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งสิ้น จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 นอกจากนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่โดยอาศัยข้อเท็จจริง เมื่อคดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงเช่นนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ในข้อกฎหมายที่ว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการที่โอนที่ดินพิพาท เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางคิ้มหรือดิ้ม บุญรอด ผู้ตาย กับนายหลิ่ม บุญรอด มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน ผู้ตายถึงแก่ความตายไปประมาณ 40 ปี แล้วก่อนตายผู้ตายมีทรัพย์สินได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 1015 เนื้อที่ 10 ไร่ 20 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 และจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้ยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกด้วยการฉ้อฉลใช้อุบายหลอกโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ให้ถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินแล้วใส่ชื่อนางสาวคนึง บุญรอด บุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วและจำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ที่ 4 โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการสะดวกในการติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินในการแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคนรวมทั้งที่ดินในส่วนที่อยู่นอกโฉนดที่ดินพิพาทด้วย แต่จำเลยที่ 1 กลับฉ้อฉลหรือเบียดบังทรัพย์มรดกดังกล่าวโดยโอนใส่ชื่อของจำเลยทั้งสี่และนางสาวคนึงลงในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 2 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ดินพิพาทต่อศาลจังหวัดสุโขทัย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับตั้งแต่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาทคนอื่นตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี โดยทำนาได้ข้าวปีละ 4 เกวียน ราคาเกวียนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 60,000 บาท และไม่นำมาแบ่งให้แก่ทายาทอื่นคนละส่วนเท่าๆ กัน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ดินโฉนดเลขที่ 1015 ตำบลบ้านไตรกลาง อำเภอกงไตรลาศ แขวงเมืองศุโขทัยมณฑลพิศณุโลก ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าขาดประโยชน์จำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วนที่ได้รับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำการอันเป็นการฉ้อฉลหรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ทำไปตามบิดาจัดการไว้ก่อนถึงแก่ความตายซึ่งทายาททั้งหมดทราบดี คำฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ฟ้องนางสาวคะนึง บุญรอด ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ได้จัดการทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 โดยชอบ ส่วนทายาทอื่นไม่ได้จัดการให้เพราะบิดาของจำเลยที่ 1 ได้จัดการยกที่ดินแปลงอื่นให้ไว้ก่อนถึงแก่ความตายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้ทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าว นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 4 กับนางสาวคะนึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 4 กับนางสาวคะนึงปฏิบัติต่อกัน จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่ได้ใช้อุบายหลอกโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ทั้งไม่เคยรับว่าจะแบ่งที่ดินให้แก่ทายาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากมิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่านิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 มีนิติกรรมส่วนใดที่ผิดกฎหมายและผิดกฎหมายอย่างไร ทั้งฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวแจ้งชัดว่าจำเลยแต่ละคนครอบครองที่ดินเป็นเนื้อที่เท่าใด ได้ผลผลิตแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมที่ดินโฉนดเลขที่ 1015 ทุ่งเหมือนช้าง ตำบลไกรกลาง อำเภอไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย 1015 ทุ่งเหมืองช้าง ตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและกำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้รับมรดกในที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 3,000 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่นั้น เป็นการฟ้องเรียกให้ได้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสี่ คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาท และโจทก์ทั้งสี่ก็ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระค่าขาดประโยชน์จำนวน 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ด้วย จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมาการอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินทรัพย์มรดกที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมามีราคา 201,000 บาท ที่ดินแต่ล่ะส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคนตามส่วนเท่าๆ กันจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอนที่ดินมรดกไปเป็นของจำเลยทั้งสี่และนางสาวคนึง บุญรอด หรือจัดการอย่างใดก็ได้ การกระทำจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดก โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้รับมรดก เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้หยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องที่ฝ่าฝืนและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ให้โอนที่ดินกล่าวแก่นางสาวคนึง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหานี้ก็ดี ล้วนแต่เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งสิ้นจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ นอกจากนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่โดยอาศัยข้อเท็จจริงเมื่อคดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงเช่นนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ในข้อกฎหมายที่ว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการที่โอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุมนั้น จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสี่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share