คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4719/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาร่วมค้ากับโจทก์ที่ 2 และที่ 3เพื่อเข้าประมูลงานโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร เมื่อได้งานแล้วกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาจ้างให้ โจทก์ที่ 1 ให้ออกแบบ เขียนแบบ ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมบุคลากร จำเลยที่ 1 ทำใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินเป็นงวด ๆ ตามความก้าวหน้าของงาน เมื่อกรุงเทพมหานครอนุมัติใบเรียกเก็บเงินและจ่ายเงินให้ กิจการร่วมค้าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำเงินเข้าบัญชีของกิจการร่วมค้าจำเลยที่ 1 กลับร่วมกับจำเลยที่ 2 เปิดบัญชีให้จำเลยที่ 1 ควบคุม บัญชีแต่เพียงผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถรู้เห็น จำเลยที่ 1เคยนำเงินส่วนที่เป็นผลงานของโจทก์ที่ 1 มาชำระให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 หยุดชำระเงินดังกล่าว ขอให้จำเลย ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เงินที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับตามสัญญา ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดถือเงินดังกล่าว หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อสัญญากำหนด เรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ แต่โจทก์ทั้งสามนำคดี มาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำกิจการร่วมค้ากับโจทก์ที่ 2 และที่ 3โดยร่วมกันประกอบธุรกิจในฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญในนาม “กิจการร่วมค้าพี-เพท/ลาน” เพื่อเข้าประมูลงานในโครงการออกแบบรวมและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียหนองแขม-ภาษีเจริญ-ราษฎร์บูรณะของกรุงเทพมหานคร ต่อมากิจการร่วมค้าพี-เพท/ลาน ประมูลงานได้และได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ให้ออกแบบ เขียนแบบ ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมบุคลากรตามแผนงาน เมื่อกรุงเทพมหานครพิจารณาอนุมัติและจ่ายเงินให้กิจการร่วมค้า จำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 เปิดบัญชีให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมบัญชีที่สามารถนำเงินของหุ้นส่วนทั้งสามเข้าฝากและสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้แต่เพียงผู้เดียว โดยที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารทราบข้อเท็จจริงว่าเงินที่นำไปฝากนั้นกิจการร่วมค้าเป็นเจ้าของร่วมกันและจำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 งดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 โดยร่วมกันเบียดบังเงินของโจทก์ที่ 1 ไปใช้ในงานอื่น อันทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3ได้รับความเสียหายด้วย เนื่องจากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนของกิจการร่วมค้าและเป็นเจ้าของบริษัทโจทก์ที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 74,916,465.84 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 71,776,254.70 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสามครบถ้วน

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาร่วมค้ากับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 หรือกิจการร่วมค้า การโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 หากมี เป็นการกระทำโดยผู้แทนกิจการร่วมค้าในนามกิจการร่วมค้า จำเลยที่ 1 หรือกิจการร่วมค้ามิได้ผิดสัญญากับเพท/ลาน เอ็นจิเนียส์ แต่เพท/ลาน เอ็นจิเนียส์ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและทิ้งงานจนกิจการร่วมค้าต้องว่าจ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานตามสัญญาต่อโจทก์นำคดีมาฟ้องศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือพิพากษายกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 1 ในการเปิดบัญชีเดินสะพัดเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสามควบคุมการจ่ายเงินออกจากบัญชี ผู้ที่มีหน้าที่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1คือกิจการร่วมค้าซึ่งเป็นคู่สัญญาจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องจำเลยที่ 2 ไม่เคยแนะนำไม่ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเงินแก่โจทก์ที่ 1 กิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่างานระหว่างกิจการร่วมค้ากับกรุงเทพมหานครให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันหนี้ของบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) และบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่างานระหว่างบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) กับกิจการร่วมค้าให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นการชำระหนี้ของบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะนำเงินมาชำระหนี้หรือนำเข้าบัญชีของบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ได้โดยชอบขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์มิใช่คำฟ้องเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ ที่โจทก์บรรยายถึงสัญญาว่าจ้างออกแบบ ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมบุคลากรเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 ก็เพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์ แต่สัญญาดังกล่าวไม่เป็นประเด็นในการฟ้องร้อง ประเด็นในคดีนี้อยู่ที่ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดถือเงินของโจทก์ได้หรือไม่ จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าตามฟ้องโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำสัญญาร่วมค้ากับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 เพื่อเข้าประมูลงานโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร เมื่อได้งานแล้วกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาจ้างให้โจทก์ที่ 1 ให้ออกแบบ เขียนแบบให้คำปรึกษาและฝึกอบรมบุคลากรตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 ในการเรียกเก็บเงินค่าจ้างจากกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้ทำใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินเป็นงวด ๆ ตามความก้าวหน้าของงานและเมื่อกรุงเทพมหานครอนุมัติใบเรียกเก็บเงินและจ่ายเงินให้กิจการร่วมค้าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำเงินเข้าบัญชีของกิจการร่วมค้า แต่จำเลยที่ 1 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1กลับร่วมกับจำเลยที่ 2 เปิดบัญชีให้จำเลยที่ 1 ควบคุมบัญชีแต่เพียงผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้าไม่สามารถรู้เห็นจำเลยที่ 1 เคยนำเงินส่วนที่เป็นผลงานของโจทก์ที่ 1 มาชำระให้โจทก์ที่ 1ตามความในข้อ 62 ของสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 หยุดชำระเงินดังกล่าว เมื่อหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 โดยความร่วมมือของจำเลยที่ 2 ยังคงยึดเงินของโจทก์ที่ 1ไว้นับแต่เดือนสิงหาคม 2541 เป็นเงิน 71,776,254.70 บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงินที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับตามสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดถือเงินดังกล่าวหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวเมื่อสัญญาดังกล่าวข้อ 8 กำหนดเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ โดยข้อ 8.2 ระบุว่า หากข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งที่เกิดจากสัญญานี้ไม่สามารถตกลงกันได้ฉันมิตรตามที่กล่าวข้างต้น (ข้อ 8.1)ให้นำข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งนั้นเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ แต่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จึงเป็นกรณีคู่สัญญาฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share