แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยโดยส่วนรวม บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองส่วนที่เป็นส่วนรวม ซึ่งรัฐเป็นผู้มีหน้าที่ในการดูแลให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจของเอกชนภายในรัฐ โดยมิได้มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเอกชนคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง รัฐเท่านั้นจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจขายที่ดินในสวนปาล์มน้ำมันหรือทำสวนปาล์มน้ำมันอันเป็นธุรกิจต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง และแม้จะปรากฏด้วยว่าจำเลยประกอบธุรกิจต้องห้ามดังกล่าวในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยจากกรมป่าไม้โดยชอบ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่ง ไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยตามฟ้อง อันจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในความผิดตามบทบัญญัตินี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (1), 37, 38 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้จำเลยเลิกประกอบธุรกิจหรือเลิกกิจการซื้อขายที่ดินสวนปาล์มน้ำมันหรือทำสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (1), 37, 38 หรือไม่ เห็นว่า ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยโดยส่วนรวม บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองส่วนที่เป็นส่วนรวม ซึ่งรัฐเป็นผู้มีหน้าที่ในการดูแลให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจของเอกชนภายในรัฐ โดยมิได้มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเอกชนคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง รัฐเท่านั้นจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจขายที่ดินในสวนปาล์มน้ำมันหรือทำสวนปาล์มน้ำมันอันเป็นธุรกิจต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง และแม้จะปรากฏด้วยว่าจำเลยประกอบธุรกิจต้องห้ามดังกล่าวในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยจากกรมป่าไม้โดยชอบ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่ง ไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยตามฟ้อง อันจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในความผิดตามบทบัญญัตินี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน