แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การเลิกจ้างซึ่งจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามซึ่งจะทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น ได้แก่การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง หรือเลิกจ้างในวันที่ระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างสิ้นสุดลง มิได้หมายความว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้ เมื่อสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายครบกำหนดในวันที่ 20 เมษายน 2528 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งยินยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 การที่สัญญาจ้างครบกำหนดในระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่บนเรือนั้น ไม่ใช่เหตุซึ่งจะทำให้จำเลยไม่สามารถเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุของสัญญาจ้างใหม่จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเป็นคดีสองสำนวนว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยรวมสองช่วง ช่วงแรกจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ช่วงที่สองโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๗ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕,๐๕๙ บาท ต่อมาวันที่ ๒๔เมษายน ๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อีกโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าทำงานในวันหยุด พร้อมด้วยดอกเบี้ยในการทำงานทั้งสองช่วง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์รับจ้างจากเจ้าของเรือเดินทะเล จำเลยเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของเรือให้เป็นผู้ทำสัญญาจ้างและจ่ายค่าจ้างแทนในบางครั้งบางคราวเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย อย่างไรก็ตามโจทก์ทำสัญญาจ้างกับเจ้าของเรือมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง ๑ ปี เมื่อเจ้าของเรือเลิกจ้างโจทก์ภายในกำหนดถือว่าเป็นการเลิกจ้างกรณีที่การจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างครั้งแรก โจทก์ไปร้องเรียนต่อกรมแรงงาน จำเลยจึงรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม อายุการทำงานจึงต้องนับติดต่อกัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงครั้งเดียว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เป็นเงิน ๒๕,๑๐๐.๗๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา ๑ เดือน ๕ วันเป็นเงิน ๔,๘๘๐.๖๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีที่สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การเลิกจ้างซึ่งจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสาม ซึ่งจะทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น ได้แก่การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างหรือเลิกจ้างในวันที่ระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างสิ้นสุดลง มิได้หมายความว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้ คดีนี้ปรากฏว่าสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายครบกำหนดในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๘ จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งยินยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๑ ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างอายุของสัญญาจ้างใหม่จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างกรณีที่สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยได้เลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ซึ่งจะทำให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่สัญญาจ้างครบกำหนดในระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่บนเรือนั้นไม่ใช่เหตุซึ่งจะทำให้จำเลยไม่สามารถเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง