คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คนร้ายปล้นรถโดยสารของ ล.ไป และจับ ล.ไปกักขังไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ จำเลยที่ 3 ได้นำจดหมายคนร้ายมาให้ภรรยาของ ล.เรียกค่าไถ่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ร่วมกระทำการกับคนร้ายในการจับตัว ล.ไป หรือร่วมในการกักขัง ล. ทั้งไม่ได้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว ปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 3 ได้นำจดหมายคนร้ายมาแสดงต่อภรรยา ล.ดังกล่าวแล้วและเจรจาต่อรองค่าไถ่ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ได้พูดกับภรรยา ล. หลังจากที่ ล.ถูกจับตัวไปว่าไม่ต้องร้อนใจ หาเงินมาไถ่ก็แล้วกัน และเมื่อภรรยา ล.จ่ายเงินให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ขี่จักรยานยนต์ไปกับจำเลยที่ 3 ไปรับล.มา เช่นนี้ จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงมีความผิดฐานกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินที่มิควรได้ จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 315 แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ แต่การเรียกค่าไถ่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำตามที่โจทก์กล่าวหาจำเลยมาในฟ้องแล้วนั่นเอง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องที่ได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ได้
จำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 315 แต่ได้จัดให้ผู้ถูกคนร้ายเอาตัวไปได้รับเสรีภาพ ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงชอบที่จะได้รับการลดโทษให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายลั่น ใช้ปืนยิงทำให้คนตาย และได้จับกุมเอาตัวนายลั่นไปเพื่อเรียกค่าไถ่และต่อมา จำเลยทั้ง ๓ กับพวกได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังนายลั่นไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ และขู่เข็ญนางเลื่อนภรรยานายลั่น ว่าถ้าไม่ยอมให้เงินจะตัดศีรษะนายลั่น นางเลื่อนจำต้องยอมเสียค่าไถ่ให้จำเลยทั้ง ๓ กับพวก จำเลยกับพวกจึงยอมปล่อยตัวนายลั่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๖), ๘๐, ๓๐๙ วรรคสอง, ๓๑๓, ๓๑๔, ๓๓๗ วรรคสอง, ๓๔๐ วรรคสุดท้าย, ๓๔๐ ตรี, ๘๓
จำเลยทั้ง ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ (๖), ๓๔ วรรคสุดท้าย, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ กระทงหนึ่ง และมาตรา ๓๑๓, ๓๐๙วรรคสอง, ๓๓๗ วรรคสอง, ๘๓ อีกกระทงหนึ่ง ความผิดในกระทงแรกให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๐ วรรคสุดท้าย ซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิตเสียโดยไม่จำต้องกำหนดโทษอาจรับความผิดกระทงหลัง สำหรับจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓, ๓๐๙ วรรคสอง, ๓๓๙ วรรคสอง, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๓ ซึ่งเป็นบทหนักโดยจำคุก ๒๐ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๙ วรรคสอง, ๓๑๓, ๓๓๗ วรรคสอง, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๓ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก ๑๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้ง ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ นั้น ไม่ปรากฏว่าได้ร่วมกระทำการกับคนร้ายในการจับเอาตัวนายลั่นไปหรือร่วมในการหน่วงเหนี่ยวกักขังนายลั่นไว้แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้สนับสนุนการกระทำของคนร้ายเมื่อก่อนหรือขณะกระทำความผิดแต่อย่างใดด้วย เท่าที่ปรากฏจากพยานโจทก์ก็มีเพียงว่าหลังจากที่นายลั่นได้ถูกคนร้ายจับตัวไปแล้วราว ๑๒ วัน จำเลยที่ ๓ ได้นำจดหมายของคนร้ายที่ต้องการเงินค่าไถ่ ๑๕๐,๐๐๐ บาทมาแสดงต่อนางเลื่อน บทบาทต่อมาของจำเลยที่ ๓ ก็คือเป็นคนเจรจาต่อรองกับนางเลื่อน ยอมลดจำนวนเงินค่าไถ่ลงเหลือ ๗๐,๐๐๐ บาท และยื่นคำขาดว่าถ้าไม่ได้เงินใน ๕ วัน นายลั่นจะถูกตัดคอส่งศีรษะมาตั้งที่หน้าบ้าน และเมื่อได้รับเงินค่าไถ่ ๗๐,๐๐๐ บาทจากนางเลื่อนแล้ว จำเลยที่ ๓ ก็สามารถไปรับตัวนายลั่นจากคนร้ายมาส่งคืนให้นางเลื่อนได้ในวันเดียวกับที่ได้รับค่าไถ่นั้นเอง ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ ๓ นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยโดยเป็นผู้ช่วยพูดสนับสนุนกับนางเลื่อนหลังจากนายลั่นถูกจับตัวไปแล้วราว ๖-๗ วันว่าไม่ต้องร้อนใจ ขอให้ไปหาเงินสองแสนมาไถ่ตัวนายลั่นก็แล้วกัน และหลังจากนางเลื่อนได้จ่ายเงินค่าไถ่ ๗๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยที่ ๓ แล้ว จำเลยที่ ๓ ก็เป็นผู้ขี่จักรยานยนต์ไปกับจำเลยที่ ๓ เพื่อไปรับตัวนายลั่นจากคนร้ายที่สะพานท่าปานมาส่งบ้านในคืนเดียวกันนั้นเอง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พยานโจทก์ในเรื่องนี้ คือนายลั่นผู้ถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ก็ดี นางเลื่อนผู้ถูกเรียกค่าไถ่ก็ดี ตลอดจนนายหวานซึ่งเป็นคนร่วมนำเงินค่าไถ่ ๗๐,๐๐๐ บาทไปมอบให้จำเลยที่ ๓ ก็ดี พยานโจทก์เหล่านี้ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เองก็ยอมรับในข้อนี้ และยังอ้างว่าเป็นญาติผู้เสียหายด้วยซ้ำ จึงไม่มีเหตุที่น่าระแวงสงสัยว่า พยานโจทก์เหล่านี้จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย ที่ทำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าฝ่ายผู้เสียหายอาจเข้าใจผิดว่า จำเลยที่ ๓ จะหาเศษหาเลยกับจำนวนเงินที่คนร้ายเรียกร้อง จึงได้พาลดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๓ และลามมาถึงจำเลยที่ ๒ ด้วยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วว่า ถ้าหากกรณีเป็นเช่นนั้นจริง จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็น่าจะกล้ายอมรับโดยเปิดเผยมาแต่แรกว่าตนได้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือเจรจากับคนร้ายเพื่อไถ่ตัวนายลั่นให้รอดชีวิตกลับคืนมาโดยสุจริตใจ มิได้มุ่งหวังประโยชน์จากเงินค่าไถ่รายนี้แต่อย่างใด แต่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กลับนำสืบปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการเรียกเงินค่าไถ่รายนี้แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงกลับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เรียกเงินค่าไถ่และรับเงินค่าไถ่ไปเสียเองเช่นนี้ จึงกลับเป็นข้อพิรุธที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๓ มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเงินค่าไถ่รายนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๓ ที่สามารถนำจดหมายเรียกเงินค่าไถ่จากคนร้ายมาแสดงเป็นหลักฐานเพื่อติดต่อเรียกเงินค่าไถ่จากนางเลื่อนได้ก็ดี และสามารถใช้อำนาจต่อรองด้วยตนเองลดจำนวนเงินค่าไถ่ลงเหลือ ๗๐,๐๐๐ บาท โดยมีพวงกุญแจรถของนายลั่นมาแสดงให้นางเลื่อนดูด้วย เพื่อให้นางเลื่อนมีความมั่นใจในอำนาจต่อรองของจำเลยที่ ๓ ก็ดี และการที่จำเลยที่ ๓ เจรจายื่นคำขาดกับนางเลื่อนว่าถ้าไม่ได้เงินใน ๕ วัน นายลั่นจะถูกตัดคอส่งศีรษะมาตั้งที่หน้าบ้านก็ดี ครั้งเมื่อจำเลยที่ ๓ ได้รับเงินค่าไถ่ ๗๐,๐๐๐ บาทจากนางเลื่อนในเช้าวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๑๙ แล้ว จำเลยที่ ๓ ก็สามารถไปรับตัวนายลั่นจากคนร้ายกลับคืนมาได้ในคืนวันเดียวกันนั้นก็ดี พฤติการณ์เหล่านี้แสดงว่าจำเลยที่ ๓ มีความสัมพันธ์กับคนร้ายถึงขนาดสามารถกระทำการติดต่อเชื่อมโยงเป็นคนกลางเรียกเงินค่าไถ่จากนางเลื่อนได้ การกระทำของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าวแล้วเข้าลักษณะกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินมิควรได้จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตารา ๓๑๕ แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ แต่การเรียกค่าไถ่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำตามที่โจทก์กล่าวหาจำเลยมาในฟ้องแล้วนั่นเอง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒
ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งได้พูดสนับสนุนให้นางเลื่อนหาเงินสองแสนบาทมาไถ่ตัวนายลั่นก็ดี และเมื่อจำเลยที่ ๓ มารดาตนได้รับเงินค่าไถ่ ๗๐,๐๐๐ บาทจากนางเลื่อนแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไปกับจำเลยที่ ๓ เพื่อไปรับตัวนายลั่นจากคนร้ายที่สะพานท่าปานก็ดีนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกระทำการด้วยกันกับจำเลยที่ ๓ในการเป็นคนกลางเรียกเงินค่าไถ่รายนี้
สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ยังไม่ถึงขั้นกระทำการจับเอาคนไปหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินมิควรได้จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๕ อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้จัดให้นายลั่นผู้ถูกคนร้ายเอาตัวไปได้รับเสรีภาพกลับคืนมาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยนายลั่นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิตแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงชอบที่จะได้รับการลดหย่อนโทษให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๖
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๕, ๓๑๖, ๓๐๙, ๓๓๗ (๑), ๘๓ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา ๓๑๕, ๓๑๖ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไว้คนละ ๗ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้นี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share