คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10351/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 มาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 31 กล่าวเฉพาะข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้นที่หากมีการแก้ไขจะต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้น แม้ลายมือชื่อของนางสาว ส. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 มาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 31 กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 8 ที่ว่า ผู้ถือหุ้นหรือบริษัทจะถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกจากข้อความหรือรายการใด ๆ ที่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ จนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อนาย ส. กรรมการโจทก์ลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาว ส. ซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งและประทับตราสำคัญของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในหนังสือรับรอง การมอบอำนาจของโจทก์ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 10,646 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,097 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,646 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 10,097 บาท นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 10,646 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,097 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ.2535 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนังสือบริคณห์สนธิให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัททุกคนลงลายมือชื่อและนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน” วรรคสองบัญญัติว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้วก่อนการขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจะกระทำได้ก็แต่โดยได้รับความยินยอมจากผู้เริ่มจัดตั้งบริษัททุกคนและนำไปขอจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติมต่อนายทะเบียน…” และมาตรา 31 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 19 วรรคสอง บริษัทจะแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของบริษัทได้ เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียง ในการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทให้บริษัทขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ที่ประชุมลงมติ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเฉพาะข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้นที่หากมีการแก้ไขจะต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้น แม้ลายมือชื่อของนางสาวสุมาลีจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 31 กรณีจึงมิต้องห้ามบทบัญญัติแห่งมาตรา 8 ที่ว่า ผู้ถือหุ้นหรือบริษัทจะถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกจากข้อความหรือรายการใด ๆ ที่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ จนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และเมื่อคดีนี้ได้ความว่าโจทก์โดยนายสมบุญ กรรมการโจทก์ลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาวสุมาลีซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งและประทับตราสำคัญของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในหนังสือรับรอง การมอบอำนาจของโจทก์ให้นายสัญญาผู้รับมอบอำนาจโจทก์กระทำการแทนย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share