แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่า โจทก์ได้มอบการครอบครองทรัพย์สินที่จะซื้อขายแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน สัญญาจะซื้อขายจึงเกิดขึ้นโดยมิต้องทำเป็นหนังสือกันอีก จึงไม่ต้องห้ามที่จะฟ้องร้องหรือต่อสู้คดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สัญญามีข้อความระบุว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เริ่มก่อการตั้งจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทรัพย์สินพิพาทเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเสร็จ ทั้งนี้การครอบครองชั่วคราวจะไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิอยู่ในทรัพย์สินพิพาทจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 หลังจากนั้นเป็นการอยู่โดยละเมิดโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวได้ การที่โจทก์มีหนังสือหลังจากวันดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 2ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากทรัพย์สินพิพาทให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2530 หาใช่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์สินพิพาทถึงวันดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เตือนให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากทรัพย์สินพิพาท หนังสือดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะอยู่ในทรัพย์สินที่พิพาทโดยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 3,045,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ให้หยุดดำเนินการใช้เตาเผา เครื่องมือ เครื่องจักร ให้ส่งมอบทรัพย์สินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ3,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากทรัพย์สินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะผู้เริ่มก่อการตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อเจรจากับโจทก์ ไม่ได้กระทำเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์สินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขาย ครั้นถึงวันนัดทำสัญญาโจทก์แจ้งว่ายังมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับตัวผู้ลงนามในสัญญาไม่สามารถจะลงนามได้ แต่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 2 ครอบครองและดำเนินกิจการในทรัพย์สินพิพาทได้และให้ถือว่าสัญญาและการคิดดอกเบี้ยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2530 จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทรัพย์สินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 2ติดต่อขอให้โจทก์ลงนามในสัญญาแต่โจทก์บ่ายเบี่ยงโจทก์กลับมีหนังสือให้จำเลยทั้งสองออกไปจากทรัพย์สินพิพาทภายในวันที่ 30 กันยายน2530 จำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2530 แจ้งยืนยันสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายไปยังโจทก์ จำเลยที่ 2 นำเงินที่จะต้องชำระตามสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินพิพาทไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ วันที่ 7 กันยายน 2530 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจึงขัดกับหนังสือของโจทก์ที่ยินยอมให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายในวันที่ 30 กันยายน 2530 โจทก์หามีสิทธินำคดีมาฟ้องไม่ค่าเช่าทรัพย์สินพิพาทอย่างสูงไม่เกินเดือนละ 2,000,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 2 และบริวารให้ขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ให้หยุดดำเนินการใช้เตาเผา เครื่องมือ เครื่องจักร ให้ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 3,045,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะออกไปจากทรัพย์สินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อการครอบครองทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันชั่วคราวครบกำหนดเวลาในวันที่ 31 กรกฎาคม2530 แล้วโจทก์ได้มอบการครอบครองให้จำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันต่อไปอีก จึงถือได้ว่าได้มีการส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันแล้วอันเป็นการชำระหนี้บางส่วนสัญญาจะซื้อขายจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2530 โดยมิต้องทำเป็นหนังสือกันอีก จึงไม่ต้องห้ามที่จะฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง นั้น ปรากฎตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาดังกล่าวจำเลยที่ 2ไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 2กันยายน 2530 ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในทรัพย์สินพิพาทจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2530 ดังนั้นเหตุละเมิดหากจะมีก็ต้องเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2530 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่7 กันยายน 2530 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องนั้นปรากฎตามเอกสารหมาย จ.13มีข้อความระบุไว้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เริ่มก่อการตั้งจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทรัพย์สินพิพาทเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเสร็จ ทั้งนี้การครอบครองชั่วคราวจะไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินพิพาทกัน จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิอยู่ในทรัพย์สินพิพาทจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 เท่านั้นหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 หามีสิทธิที่จะอ้างตามกฎหมายเพื่อจะอยู่ในทรัพย์สินพิพาทอีกต่อไปไม่ การที่จำเลยที่ 2 ยังอยู่ในทรัพย์สินพิพาท จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2530 เป็นต้นไป การที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 2 กันยายน 2531แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากทรัพย์สินพิพาทให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2530หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์สินพิพาทจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2530 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เตือนให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากทรัพย์สินพิพาทหนังสือฉบับดังกล่าวของโจทก์ย่อมไม่ก่อให้จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในทรัพย์สินพิพาทโดยละเมิดเกิดสิทธิที่จะอยู่ในทรัพย์สินพิพาทได้ต่อไปโดยถือว่าไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรืออีกนัยหนึ่งหาทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2530 หมดไปไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในวันที่7 กันยายน 2530 ได้ แล้ววินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายว่าค่าเสียหายที่ศาลล่างกำหนดชอบแล้ว
พิพากษายืน