คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีอากรให้จำเลยชำระเพิ่มเติมจำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีหน้าที่ตรวจสอบคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งนั้นได้ตามที่เห็นสมควร ดังนี้เมื่อยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมสรรพากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2525 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่3 สิงหาคม 2525 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1และได้รับส่วนแบ่งเงินทุนคืน ระหว่างปี 2523 ถึง 2525 จำเลยที่ 1ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียภาษี จำเลยที่ 1 ขอลดเงินเพิ่มเบี้ยปรับ โจทก์ลดให้และคงเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น1,631,596.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวโดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงินที่แต่ละคนรับไป
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ให้การว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์การประเมินแล้ว ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยทั้งแปดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามบทบัญญัติมาตรา 29, 30 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีการประเมินภาษีอากรแล้ว ผู้มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีอากร จะอุทธรณ์การประเมินไปยังผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์หรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะต้องห้ามตามกฎหมายมิให้อุทธรณ์การประเมิน ที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้ก็เพื่อให้ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของผู้ประเมินหรือ เจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประการใดเมื่อพิจารณาแล้วผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งนั้นได้ตามที่เห็นสมควร โดยทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้อุทธรณ์ตามที่มาตรา 34 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินแล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัยดังนี้ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีโจทก์ตามที่แจ้งการประเมินไปซึ่งจำเลยอื่น ๆ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ ชอบที่จะต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่มีประมวลรัษฎากรมาตราใดบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า หากตีความเช่นนั้น บทบัญญัติเรื่องอุทธรณ์การประเมินต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรก็จะไร้ประโยชน์ ส่วนเหตุผลของโจทก์ที่ปรากฏในคำแก้ฎีกาที่ว่า เมื่อมีการประเมินแล้ว ถ้าไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 บังคับชำระหนี้ได้ จึงนำคดีมาฟ้องได้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องภาษีอากรค้างกับการนำคดีมาฟ้องเป็นคนละปัญหานำมาเทียบเคียงกันไม่ได้”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share