แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ การล้างมลทินตามพระราชบัญญัติ นี้มิได้จำกัดความผิดของผู้ต้องโทษไว้ ผู้ต้องโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษจึงอยู่ในข่ายได้รับผลด้วยจำเลยพ้นโทษฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองไปก่อนวันที่ 5ธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจึงถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนี้มาก่อน เพิ่มโทษจำเลยในคดีหลังไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมจำหน่ายกัญชา จำเลยที่ 1เคยต้องโทษจำคุกฐานมียาเสพติด และอยู่ในระหว่างรับโทษ ได้มากระทำผิดคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดและเพิ่มโทษ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับในข้อต้องโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานจำหน่ายกัญชา จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามจำคุก 1 ปี 4 เดือน นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 34/2520 ของศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จะเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ได้หรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษา พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ การล้างมลทินตามพระราชบัญญัตินี้มิได้จำกัดความผิดของผู้ต้องโทษไว้ ดังนั้น ผู้ต้องโทษตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษจึงอยู่ในข่ายที่ได้รับผลด้วย เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 พ้นโทษฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 34/2529 ของศาลชั้นต้นไปก่อนวันที่ 5ธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับจำเลยที่ 1 จึงได้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อนจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 เป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 75 โดยมิได้ระบุวรรคศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 75 วรรคแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์