คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แต่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีอันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 35 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีข้อ 5 ซึ่งกำหนดว่า “ผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มคดีหรือตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งแล้วแต่กรณี และให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีดังกล่าวผูกพันโจทก์ทุกคน” ฉะนั้นภายหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งแล้ว การที่โจทก์ที่ 2 เบิกความเป็นพยานในคดีจึงต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 มีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามเอกสารหมาย จ.20 และรายละเอียดแนบท้ายหนังสือดังกล่าวซึ่งระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 มีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังพยานหลักฐานอันเป็นสาระแก่คดีซึ่งอาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสิบสำนวนตามฟ้อง
จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,142 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,508 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 11,089 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 1,333 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 9,440 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 10,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 9,926 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13
โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 35 วรรคสาม และวรรคสี่บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีโจทก์หลายคน ศาลจะจัดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้ และวิธีการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลแรงงาน และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดี ข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นคดีหรือตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งแล้วแต่กรณี และให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีดังกล่าวผูกพันโจทก์ทุกคน” โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แต่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีอันเป็นการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 35 วรรคสาม และวรรคสี่ ฉะนั้นภายหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งแล้ว การที่โจทก์ที่ 2 เบิกความเป็นพยานในคดีจึงต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 มีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามเอกสารหมาย จ.20 และรายละเอียดแนบท้ายหนังสือดังกล่าวซึ่งระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 มีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังพยานหลักฐานอันเป็นสาระแก่คดีซึ่งอาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แล้วให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีของโจทก์ดังกล่าว และมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share