คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2300/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม หนังสือสัญญากู้เงินเครดิตเงินสด ข้อ 8 วรรคสอง คู่สัญญาตกลง กันว่า “ผู้กู้ยินยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากของผู้กู้เพื่อชำระดอกเบี้ย หรือต้นเงินกู้ซึ่งถึงกำหนดชำระหรือถูกเรียกคืนตามสัญญา ข้อ 25 โดย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแต่ อย่างใด” เห็นได้ว่าเมื่อต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ยถึง กำหนดชำระนั้นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยผู้กู้จะต้องมีอยู่ ธนาคารโจทก์จึงจะหักเงินในบัญชีนั้นชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย ค้างชำระได้ ส่วนโจทก์จะหักเงินนั้นชำระหนี้เมื่อใดเป็นสิทธิของโจทก์ แต่ถ้าเงินในบัญชีไม่มีหรือมีแต่ได้หักชำระหนี้ต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ย ที่ถึง กำหนดชำระหมดแล้วการหักเงินชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 8 วรรคสองที่กล่าวแล้วในภายหลังอีกย่อมไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีเงินในบัญชีที่จะให้หัก โจทก์หักเงินในบัญชีทั้งหมดชำระหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้วจึงนำหนี้ที่คงเหลือมาฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ฉะนั้น การที่จำเลยส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากภายหลังที่โจทก์ฟ้องและโจทก์นำเงินในบัญชีนั้นไปหักชำระหนี้โจทก์อีก ก็มีผลเป็นอย่างเดียวกับการที่จำเลยนำเงินนั้นไปชำระหนี้ให้โจทก์โดยตรง ดังนั้น การที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยวิธีการข้างต้นโดย ที่จำเลยไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ให้ผู้ร้อง จึงทำให้โจทก์ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคำขอให้เพิกถอนการกระทำเช่นนั้นได้ จำเลยนำเงินไปเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 2224 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการชำระหนี้นั้นได้ การที่โจทก์ต้อง คืนเงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะการชำระหนี้ได้ถูกเพิกถอนนั้นเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย เพราะตราบใด ที่การชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนก็ยังถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบอยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2522 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2523 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 8เมษายน 2524 ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2524 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นเงิน 101,800 บาท วันที่ 6 มีนาคม 2523เป็นเงิน 67,000 บาท และเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2523 อีกเป็นเงิน5,278.33 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 174,078.33 บาท อันเป็นการชำระหนี้ภายหลังที่มีการขอให้ล้มละลายซึ่งทำให้โจทก์ได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไต่สวนแล้วเห็นว่าตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามหนังสือสัญญากู้เงินเครดิตเงินสดข้อ 8 วรรคสอง จำเลยยอมให้โจทก์หักบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินกู้ซึ่งถึงกำหนดชำระ หรือถูกเรียกคืนตามสัญญาข้อ 25 ได้โดยมิต้องบอกล่วงหน้า ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิโอนเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยไปชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจึงเป็นผลที่เกิดจากข้อตกลงซึ่งโจทก์จำเลยทำขึ้น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2517 ก่อนที่มีการขอให้จำเลยล้มละลาย นอกจากนี้โจทก์ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยในมูลหนี้เงินกู้ และเป็นลูกหนี้จำเลยในมูลหนี้เงินฝากออมทรัพยื แม้จะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 102 ได้ จึงมีคำสั่งไม่เพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว
ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นว่า การที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ดังกล่าวแล้วก็โดยมุ่งหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบ แม้จะมีข้อสัญญาข้างต้นโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินที่กล่าวมาแล้วไปหักกลบลบหนี้กัน เพราะมิใช่เป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ก่อน 3 เดือนก่อนขอให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงต้องชำระเงินนั้นคืนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจะได้นำเงินเข้าไปรวมในกองทรัพย์สินของจำเลย จึงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้นั้น โดยให้โจทก์ชำระเงิน 174,078.33 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รับหรือถือว่าได้รับเงินดังกล่าวจากจำเลยจนกว่าโจทก์จะชำระเงินนั้นให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยครบถ้วนและถูกต้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิโอนเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยไปชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวแล้วเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างจำเลบกับโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินเครดิตเงินสด ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2517 ก่อนขอให้จำเลยล้มละลายถึง 6 ปีเศษ และแม้ไม่มีข้อตกลงนั้นโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ และลูกหนี้ในมูลหนี้เงินฝากออมทรัพย์ก็มีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 นอกจากนี้ผู้ร้องไม่มีอำนาจคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพราะการเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การสอบสวนเบื้องต้นเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะ ตามมาตรา 115 ขอให้ยกคำร้อง
ส่วนที่โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยแล้วจำเลยร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรีว่าจำเลยเดือดร้อนขอให้โจทก์หาทางผ่อนผัน โจทก์จึงให้จำเลยไปแนะนำสมาชิกของจำเลยที่เป็นหนี้จำเลยมากู้เงินโจทก์ แล้วนำเงินที่กู้มาชำระหนี้แทนจำเลยการชำระหนี้ 168,800 บาท จึงเป็นการนำเงินของโจทก์มาชำระหนี้โจทก์เพื่อผ่อนคลายการดำเนินคดี อย่างไรก็ตามโจทก์มีสิทธิหักเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่จำเลยมีอยู่กับโจทก์ตามสัญญาที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2517 อันเป็นการใช้สิทธิระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่มีอยู่ก่อนฟ้องคดีด้วย ส่วนเงิน 5,278.33 บาทโจทก์ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นเงินฝากที่จำเลยมีอยู่กับโจทก์ และใช้สิทธิหักชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งสิทธินั้นมีอยู่ก่อนฟ้องให้จำเลยล้มละลาย อนึ่ง ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้ โจทก์ก็ได้ชี้แจงการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว จนศาลมีคำสั่งให้โจทก์รับชำระหนี้เต็มจำนวนที่โจทก์ขอรับชำระซึ่งได้หักเงินที่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวออกแล้วหากผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนก็ควรจะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลในชั้นนั้น การใช้สิทธิของผู้ร้องจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตนอกจากนี้การจะขอให้เพิกถอนการโอนจะต้องกระทำภายใน 1 ปี ตามมาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องนี้ผู้ร้องทราบเหตุเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2524 แต่มาร้องขอเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2528 คดีผู้ร้องขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนค่าทนายความเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีเองจึงไม่กำหนดให้
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้อุทธรณ์เองจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์หนังสือสัญญากู้เงินเครดิตเงินสดข้อ 8 วรรคสองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ที่คู่สัญญาตกลงกันว่า “ผู้กู้ยินยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากของผู้กู้เพื่อชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินกู้ซึ่งถึงกำหนดชำระหรือถูกเรียกคืนตามสัญญา ข้อ 25 โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด” แล้วเห็นได้ว่า เมื่อต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระนั้นเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้กู้จะต้องมีอยู่ โจทก์จึงจะหักเงินในบัญชีนั้นชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ยค้างชำระได้ ส่วนโจทก์จะหักเงินนั้นชำระหนี้เมื่อใดเป็นสิทธิของโจทก์ แต่ถ้าเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไม่มีหรือมี แต่ได้หักชำระหนี้ต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระหมดแล้ว การหักเงินชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 8 วรรคสอง ที่กล่าวแล้วในภายหลังอีกย่อมไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่จะให้หัก ฉะนั้นการที่จำเลยผู้กู้ส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ภายหลังที่ธนาคารโจทก์หักเงินในบัญชีดังกล่าวชำระหนี้ที่จำเลยค้างชำระหมดสิ้นแล้ว หลังจากนั้นโจทก์จึงนำหนี้ที่คงเหลือมาฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย การที่โจทก์นำเงินในบัญชีนั้นซึ่งจำเลยนำเข้าภายหลังที่โจทก์ฟ้องไปหักชำระหนี้โจทก์อีก ก็มีผลเป็นอย่างเดียวกับการที่จำเลยนำเงินนั้นไปชำระหนี้ให้โจทก์โดยตรงคดีนี้ ตามฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 891,103.35 บาท และเป็นหนี้ผู้ร้องตามคำขอรับชำระหนี้ที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องรับชำระหนี้1,853,562.50 บาท ดังนั้นที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์โดยวิธีการข้างต้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นเงิน 101,800 บาท และวันที่ 6มีนาคม 2523 เป็นเงิน 67,000 บาท โดยที่จำเลยไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ให้ผู้ร้อง การกระทำของจำเลยจึงทำให้โจทก์ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคำขอให้เพิกถอนการกระทำเช่นนั้นได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2527 ระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงไสไม้เหรียญทองกับพวก ผู้ร้อง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้คัดค้าน คำพิพากษาฎีกาที่ 1474/2528 ระหว่าง นายเจริญ ศรีสมบูรณานนท์ โจทก์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้อง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดผู้คัดค้าน บริษัทธเนศพร จำกัด กับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 3/2529 ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดเกษสุรินทร์ชัย โจทก์นายทวีชัย โภณวัฒนพงศ์ จำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้คัดค้าน ที่โจทก์และผู้คัดค้านอ้างมาในคำแก้ฎีกานั้น ข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ตรงที่เงินที่เจ้าหนี้หักใช้หนี้ตามสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้ต่อเจ้าหนี้นั้นอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้ตั้งแต่ขณะที่ลูกหนี้เจ้าหนี้มีสัญญาต่อกันจึงนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้ นอกจากนี้การที่จำเลยนำเงินไปเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์อีกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2523เป็นเงิน 5,278.33 บาท หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 9 เดือนเดียวกันแล้ว ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22, 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการชำระหนี้นั้นได้ เมื่อการกระทำของจำเลยจะต้องถูกเพิกถอนดังเหตุผลที่วินิจฉัยมาแล้ว ก็ไม่มีเงินที่โจทก์รับฝากไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่โจทก์จะนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเครดิตเงินสดและตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 102 ดังที่โจทก์ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้ฎีกาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ต้องคืนเงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะการชำระหนี้ได้ถูกเพิกถอนนั้นเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย เพราะตราบใดที่การชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนก็ยังถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบอยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการหักบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และให้โจทก์ชำระเงิน 174,078.33 บาทให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของกลุ่มเกษตรกรชาวนาตำบลบึงศาลลูกหนี้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนผู้ร้องด้วย เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้จะต้องใช้ให้หักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ค่าทนายความเห็นสมควรให้เป็นพับ.

Share