คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่าย ยังมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับ
จำเลยอ้างว่าโจทก์ (ลูกจ้าง) จะต้องรับผิดชอบในสินค้าของจำเลยที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์สูญหายไป แต่โจทก์แถลงต่อศาลแรงงานกลางว่าหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ ดังนั้น แม้จะให้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปก็ไม่ทำให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ จำเลยจึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับโจทก์ไม่ได้
โจทก์เป็นพนักงานทำความสะอาดไม่ใช่งานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ตามประกาศกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 4 จำเลยจึงต้องห้ามไม่ให้เรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือ เงินประกันความเสียหายในการทำงานจากโจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องคืนค่าจ้างที่หักสะสมไว้โดยถือว่าเป็นประกันความเสียหายนั้นให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสม เงินประกันการทำงาน กับเงินค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลเอาใจใส่สินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน เป็นเหตุให้สินค้าสูญหายและถูกลักไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบบางส่วน ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสะสม ค่าชดเชย และเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ อีกทั้งมีสิทธิยึดหน่วงเงินสะสม เงินชดเชย และเงินประกันการทำงานของโจทก์และนำมาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบ … ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา … โจทก์แถลงว่าหนี้ตามข้ออ้างของจำเลย โจทก์มีข้อต่อสู้ ไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ตามคำให้การ …
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างเพราะโจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหายหรือโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์และไม่มีข้อตกลงให้จำเลยหักเงินประกันการทำงานจำเลยจึงต้องจ่ายเงินสะสมและเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์ โจทก์ยังมีข้อต่อสู้ในค่าเสียหายตามคำให้การของจำเลยและไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ จำเลยต้องฟ้อง หรือฟ้องแย้งจึงจะหักกลบลบหนี้ได้ ไม่มีสิทธิขอหักกลบลบหนี้มาในคำให้การ พิพากษาให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๔ นั้น หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายยังมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับ คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์จะต้องรับผิดชอบในสินค้าของจำเลยที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ที่สูญหายไป แต่โจทก์แถลงต่อศาลแรงงานกลางว่า หนี้จำนวนนี้โจทก์มีข้อต่อสู้ไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ ถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่แม้จะให้สืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ไปก็ไม่ทำให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ จำเลยจึงนำหนี้จำนวนดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับโจทก์ไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางที่สั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยนั้นชอบแล้ว
แม้ว่าระเบียบของจำเลยว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างจะกำหนดให้เงินสะสมเป็นเงินประกันบรรดาความเสียหายที่โจทก์ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานกับจำเลยซึ่งให้หักชดใช้ค่าเสียหายได้ก็ตาม แต่โจทก์เป็นพนักงานทำความสะอาดไม่ใช่งานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกัน ความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และ วิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ ข้อ ๔ จำเลยจึงต้องห้ามไม่ให้เรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากโจทก์ ดังนั้นเงินสะสมที่จำเลยหักจากค่าจ้างของโจทก์ไว้และถือว่าเป็นประกันความเสียหายนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างก็ต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยถ้ามี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินสะสมของโจทก์ชำระค่าเสียหาย
พิพากษายืน .

Share