คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือค้ำประกันสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ทำประกันไว้ต่อโจทก์คืนนั้นเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้อุบายหลอกลวงจึงมิใช่เป็นการที่โจทก์ปลดหนี้ค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 3ด้วยการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์ ราคา 26,500,000 บาท โดยตกลงให้ทยอยส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน และให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คล่วงหน้า 90 วัน ชำระหนี้ตามราคาทรัพย์นั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาทรัพย์ที่ซื้อขายตรงตามสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและเบี้ยปรับอีกร้อยละ 9 ต่อปี ให้แก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000,000 บาท พร้อมอุปกรณ์แห่งหนี้ทั้งปวง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาการชำระราคาสินค้าตามสัญญามีปัญหาโจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 จัดให้มีธนาคารพาณิชย์มาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาว่า หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาประการใดประการหนึ่ง จำเลยที่ 3 ยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 4,000,000 บาท และต่อมาจำเลยที่ 3ได้ออกหนังสือค้ำประกันอีกฉบับหนึ่งต่ออายุสัญญาออกไป โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาค้ำประกันเดิม หลังจากนั้นโจทก์ได้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ด้วยเงินเชื่อตามสัญญา และจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าสินค้ารวมเป็นเงิน 4,276,429 บาท จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาพระราม 4 จำนวน 5 ฉบับ ชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เช็คทั้ง 5 ฉบับ เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1จึงชำระเงินจำนวน 276,429 บาทแก่โจทก์ และสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาพระราม 4 ฉบับใหม่ให้โจทก์ลง จำนวนเงิน4,000,000 บาท ได้หมายเหตุไว้ที่ด้านหลังเช็คว่า เมื่อเช็คถึงกำหนดให้นำเช็คฉบับนี้พร้อมกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขาพระราม 4 ฉบับที่ พีอาร์เอส 21/2526 มาเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็ค ครั้นถึงกำหนดพนักงานของโจทก์นำเช็คและหนังสือค้ำประกันไปพบจำเลยที่ 2 เพื่อแลกแคชเชียร์เช็ค แต่ถูกจำเลยที่ 2กับพวกหลอกลวงฉ้อโกงเอาเอกสารดังกล่าวไปและไม่ได้มอบแคชเชียร์เช็คหรือชำระเงินให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ แต่จำเลยที่ 3แจ้งตอบโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 3ได้รับหนังสือค้ำประกันคืนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามอีกครั้งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 3 ก็ยังปฏิเสธความรับผิดเช่นเดิมเมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ จำเลยที่ 1ได้ชำระเงินให้โจทก์ 1,000,000 บาท ซึ่งเมื่อหักดอกเบี้ยแล้วเป็นการชำระต้นเงิน 634,587.43 บาท และคงค้างต้นเงินอยู่อีก3,365,413.57 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ยอมรับว่าจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม2527 จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้ให้โจทก์ยอมรับว่าจนถึงวันที่20 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่จำนวน3,460,567.12 บาท และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในต้นเงิน3,365,413.57 บาท นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2527 ซึ่งหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ 50,000 บาทแล้วไม่ชำระให้โจทก์อีก จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของต้นเงิน 3,365,413.57 บาท นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2527เป็นเงินดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจำนวน 1,480,781.89 บาท เมื่อหักดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ได้ชำระจำนวน 50,000 บาทแล้ว คงค้างดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ 1,430,781.89 บาท รวมกับเงินที่ค้างชำระอยู่ในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 3,460,567.12 บาท แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 4,891,349.01 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน4,891,349.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 3,365,413.57 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ภายในวงเงิน 4,000,000 บาทจริง แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากพนักงานของโจทก์และกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันมาคืนให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้ขอคืนหลักประกันในการออกหนังสือค้ำประกันไปจากจำเลยที่ 3 ด้วยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารพาณิชย์การกระทำของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ค้ำประกันโดยการวางคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 3 หนี้ค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 มีต่อโจทก์จึงเป็นอันระงับไป หากศาลจะฟังว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามหนี้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดเกินวงเงิน 4,000,000 บาท ที่ค้ำประกันไว้ การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 3 มิได้เป็นหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์จำนวน3,460,567.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,365,413.57 บาท นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยหักเงินจำนวน 50,000 บาท ที่ชำระไว้แล้วออกจากดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 6,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 รับผิดในวงเงินไม่เกิน 4,000,000 บาท คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันหรือไม่จำเลยที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 3 ได้รับการเวนคืนหนังสือค้ำประกันมาแล้ว ถือว่าเป็นการปลดหนี้ค้ำประกันแก่จำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว เห็นว่าโจทก์นำสืบฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือค้ำประกันสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ทำประกันไว้ต่อโจทก์คืนนั้น เป็นเพราะโจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1ซึ่งระบุว่า เมื่อเช็คชำระหนี้จำนวนเงิน 4,000,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกชำระหนี้ให้โจทก์ถึงกำหนดชำระ ให้โจทก์นำเช็คพร้อมหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ไปเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คของจำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงขอรับหนังสือค้ำประกันไปแต่ไม่ได้มอบแคชเชียร์เช็คให้ตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์เมื่อไม่ได้รับแคชเชียร์เช็คได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ จำเลยทั้งสามไม่ชำระโดยจำเลยที่ 3 อ้างว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันแล้วจึงไม่ผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือค้ำประกันแล้วจึงไม่ผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือค้ำประกันคืนจึงเนื่องจากโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลอกลวงเอาไปคืนให้แก่จำเลยที่ 3 หาใช่เป็นการที่โจทก์ปลดหนี้ค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 3 ด้วยการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ไม่ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3ไม่ได้รู้เห็นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 หลอกลวงโจทก์และข้อตกลงให้ไปแลกแคชเชียร์เช็คแสดงว่าทั้งคู่มีเจตนาปลดหนี้ภาระค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์มอบหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพราะโจทก์คิดว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมอบแคชเชียร์เช็คให้โจทก์ มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่คืนสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 3,460,567.12 บาทพร้อมดอกเบี้ย ในวงเงินไม่เกิน 4,000,000 บาท แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share