คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแอบบันทึกเทปขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มมาตรา 226/1 ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำบันทึกเทปดังกล่าวมารับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 337, 337 ประกอบมาตรา 86, 362, 364, 365, 91 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมชาย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 362, 364 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันประกอบกับนางชิดได้พูดเสนอให้เงินคนร้าย 100,000 บาท หากพยานมองไม่เห็นหน้าจะเจรจาต่อรองกับคนร้ายได้อย่างไร ไม่ปรากฏว่าคนร้ายทั้งสี่ได้อำพรางใบหน้าแต่อย่างใด เชื่อว่าถ้าพยานเคยเห็นหน้าหรือรู้จักกันมาก่อนก็ย่อมจำได้ว่าเป็นใคร นอกจากนี้โจทก์ร่วมตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ถูกดำเนินคดีแล้วจำเลยที่ 2 เคยมาพูดคุยกับโจทก์ร่วมเกี่ยวกับคดีจะมีการบันทึกเสียงไว้หรือไม่ โจทก์ร่วมไม่ทราบ ทนายจำเลยที่ 2 ได้นำเทปบันทึกเสียงพร้อมกับบันทึกการถอดเทปมาประกอบการถามค้านโจทก์ร่วมและอ้างเป็นพยานวัตถุและพยานเอกสาร ซึ่งแสดงว่าการบันทึกเทปดังกล่าวเป็นการแอบบันทึกขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีเจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ตามระหว่างพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มมาตรา 226/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาโดยมิชอบ แต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปดังกล่าวได้ใจความว่าโจทก์ร่วมไม่สมัครใจและไม่มีความเป็นอิสระในการชี้ตัวจำเลยที่ 2 จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ร่วมและนางกุลพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 ผิดตัวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุอันควรแก่การสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share