คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่ากำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระค่าภาษีโรงเรือนให้แก่ทางราชการแทนโจทก์ ซึ่งกำหนดให้ชำระทุกปีตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าวตามกำหนดย่อมถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาของโจทก์ โดยหาจำต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีในส่วนดังกล่าวให้แก่ทางราชการก่อนนำคดีมาฟ้องหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่าภาษีโรงเรือนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากสถานที่เช่า กับห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าที่ค้างกับค่าภาษีโรงเรือนคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,508,200.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,452,678.57 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 90,000 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากสถานที่เช่า
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทเลขที่ 58 และเลขที่ 58/1 – 2 ถนนทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยให้ขนย้ายทรัพย์สินและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,452,678.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเช่าค้างชำระเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2543 เดือนละ 65,000 บาท เดือนสิงหาคม 2543 ถึงเดือนสิงหาคม 2544 เดือนละ 81,250 บาท นับแต่วันที่ค้างชำระ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 สิงหาคม 2544) ต้องไม่เกิน 55,521.56 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระ 201,428.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 81,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากตึกแถวพิพาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 891,428.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับคำขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารกับค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ในสัญญาเช่าตึกแถว 4 ชั้น พร้อมชั้นลอย เลขที่ 58 และเลขที่ 58/1 – 2 ถนนทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่พิพาทกับโจทก์ผู้ให้เช่า รวม 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 65,000 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ฉบับที่ 2 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 81,250 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และฉบับที่ 3 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ตกลงค่าเช่าเดือนละ 101,562.50 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน สัญญาเช่าทั้งสามฉบับมีข้อตกลงในข้อ 5 ว่า จำเลยทั้งสามในฐานะผู้เช่ารับภาระค่าภาษีโรงเรือนแทนโจทก์ผู้ให้เช่า ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คชำระค่าเช่าให้โจทก์จำนวน 34 ฉบับ เฉพาะฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 ชำระค่าเช่า 2 เดือน และโจทก์ได้รับเงินตามเช็คทั้ง 34 ฉบับแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนประจำปี 2542 และปี 2543 หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่า กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระค่าภาษีโรงเรือนให้แก่ทางราชการแทนโจทก์ ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องชำระทุกปีตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าวตามกำหนด ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาของโจทก์ โดยหาจำต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีในส่วนดังกล่าวให้แก่ทางราชการก่อนนำคดีมาฟ้องหรือไม่ เมื่อกรณีเป็นการโต้แย้งสิทธิดังวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนประจำปี 2542 และปี 2543 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปัญหานี้มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทแก่จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่า ซึ่งการบอกเลิกสัญญาเช่าเพราะการผิดนัดชำระค่าเช่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้” ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่า โจทก์ได้มีหนังสือ เรื่อง “ขอให้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมด เลิกสัญญาเช่า” ไปยังจำเลยทั้งสาม ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวโดยตลอดแล้ว ก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระภายในกำหนดเวลา 20 วัน ตามที่โจทก์กำหนดไว้ในหนังสือดังกล่าว สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทก็ย่อมเลิกกัน เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว การที่จำเลยทั้งสามยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายในมูลละเมิดนับแต่วันถัดจากวันฟ้องด้วย แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่ได้ให้จำเลยที่ 3 รับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ และโจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ และคดีนี้ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์มีเพียง 1,508,200.13 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 37,705 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทเลขที่ 58, 58/1 และ 58/ 2 ถนนทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 891,428.57 บาท กับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2542 และ 2543 จำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 981,428.57 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 81,250 บาท ในการคำนวณค่าเสียหายรายเดือนให้เริ่มนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากตึกแถวพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

Share