คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ที่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ต้องเป็นการสมคบกันกระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดในครั้งนั้นด้วย เมื่อจำเลยขับรถมารับยาเสพติดให้โทษไปส่งให้แก่ผู้ค้าคือ อ. 2 ครั้ง แต่ไม่ใช่ครั้งที่ ว. และ ส. กระทำความผิดในครั้งนี้ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาตามฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ให้ลงโทษประหารชีวิต ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (ที่ถูก มาตรา 52 (1)) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางวิลาวรรณและนางสุพัฒน์ พร้อมของกลางคือเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 8,865.014 กรัม และเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 188.638 กรัม โดยบุคคลทั้งสองรับสารภาพว่ามียาเสพติดให้โทษจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์มีนายอดุลย์หรือเสียม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและสมัครใจเป็นสายลับให้เจ้าพนักงานตำรวจจนจับกุมนางวิลาวรรณและนางสุพัฒน์ได้ครั้งนี้มาเบิกความว่า พยานเคยรับจ้างนางวิลาวรรณขับรถยนต์ไปขนยาเสพติดให้โทษจากชาวเขาที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ค้า โดยผู้ค้าจะให้คนขับรถอีกคันหนึ่งมาจอดรอรับยาเสพติดให้โทษจากพยานอีกทอดหนึ่ง พยานเคยพบกับจำเลยมาก่อนโดยครั้งแรกประมาณกลางปี 2547 จำเลยขับรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นฟรอนเทียร์ มารับยาเสพติดให้โทษไป ต่อมาอีกประมาณครึ่งเดือนจำเลยขับรถยนต์คันเดิมมารับยาเสพติดให้โทษอีกครั้งที่ตลาดรวมโชค จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ โจทก์มีพลตำรวจตรีสุวิระ พันตำรวจโทสถาพร พันตำรวจโทอธิวัฒน์ และร้อยตำรวจเอกสุภศักดิ์ มาเบิกความรับฟังได้ความว่า หลังจากพลตำรวจตรีสุวิระกับพวกวางแผนจับกุมผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายนี้โดยให้นายอดุลย์เป็นสายลับขับรถยนต์ให้นางวิลาวรรณขนยาเสพติดให้โทษที่ซื้อมาจากชาวเขาแล้วจะนำไปเก็บที่บ้านของนางสุพัฒน์เพื่อรอส่งให้แก่ผู้ค้านั้น พยานกับพวกจึงเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมนางวิลาวรรณกับนางสุพัฒน์พร้อมของกลางได้ หลังจากนั้นพันตำรวจโทสถาพรและร้อยตำรวจเอกสุภศักดิ์เบิกความว่า ได้ให้นางวิลาวรรณโทรศัพท์ติดต่อกับนายอารีย์ ผู้สั่งซื้อยาเสพติดให้โทษ โดยในการสนทนานายอารีย์บอกให้นางวิลาวรรณติดต่อกับจำเลยเพื่อให้จำเลยขนยาเสพติดให้โทษจำนวนดังกล่าว พยานได้ทำบันทึกรายละเอียดการสนทนาของนางวิลาวรรณและนายอารีย์ไว้ ต่อมาพยานให้นางวิลาวรรณโทรศัพท์ติดต่อหาจำเลยหลายครั้งเพื่อแจ้งจุดนัดพบในการขนยาเสพติดให้โทษแต่สุดท้ายจำเลยปิดโทรศัพท์และหลบหนีไป ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจึงยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับจำเลย และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ตรวจสอบด้วย จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเห็นได้ว่า มีนายอดุลย์เพียงปากเดียวที่เบิกความว่าพบเห็นจำเลยขับรถมารับยาเสพติดให้โทษไปส่งให้แก่ผู้ค้าคือนายอารีย์ 2 ครั้ง แต่ก็มิใช่ครั้งที่นางวิลาวรรณและนางสุพัฒน์กระทำความผิดในครั้งนี้ ส่วนที่พันตำรวจโทสถาพรและร้อยตำรวจเอกสุภศักดิ์เบิกความถึงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนางวิลาวรรณกับนายอารีย์ในทำนองให้จำเลยมาขับรถขนยาเสพติดให้โทษหรือที่นางวิลาวรรณโทรศัพท์นัดหมายจำเลยให้มาพบนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมาพบหรือขับรถยนต์มารับยาเสพติดให้โทษจากนางวิลาวรรณแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีส่วนในการกระทำความผิดครั้งนี้ นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ที่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ต้องเป็นการสมคบกันกระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดในครั้งนั้นด้วย เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีส่วนสมคบกันกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาตามฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share