คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1315/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายตามมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 340 ตรี แล้วให้ลงโทษตามมาตรา 288 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 339 วรรคท้ายประกอบกับมาตรา 340 ตรี มีอัตราโทษสูงกว่าความผิดตามมาตรา 288ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ต้องลงโทษบทหนัก ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขวางบทลงโทษให้ถูกต้องโดยไม่ลงโทษสูงกว่าเดิมได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดยผิดกฎหมายลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง จำคุก 1 ปี และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371ปรับ 100 บาท นั้นก็ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากความผิดทั้งสองฐานเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยทั้งสอง คือ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเสียด้วย และเหตุดังกล่าวข้างต้นอยู่ในส่วนลักษณะคดีให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก กับมีกระสุนปืน 6 นัด โดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวกับมีดปลายแหลม 2 เล่มไปตามทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชิงทรัพย์ของนายอุดมศักดิ์หรือสมพงษ์ประเทืองความสุข รวม 5 รายการ เป็นเงิน 692,840 บาท และทรัพย์ของนายสุรสีห์ แซ่เอี้ยวหรือแซ่เอี๊ยวหรือแซ่เอี้ยว รวม 9 รายการเป็นเงิน 399,980 บาท และร่วมกันฆ่านายอุดมศักดิ์หรือสมพงษ์และนายสุรสีห์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยทรมานและโดยกระทำทารุณโหดร้ายเจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน 1 กระบอก ปลอกกระสุนปืน 3 ปลอก ลูกกระสุนปืน1 ลูก กระสุนปืน 1 นัด มีดปลายแหลม 2 เล่ม กระดาษกาว 1 ม้วนขวดใช้บรรจุน้ำกรด 1 ขวด จากสถานที่เกิดเหตุ และลูกกระสุนปืน3 ลูก เศษลูกกระสุนปืน 1 ชิ้น จากศพของนายอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำผิด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 289, 339, 340 ตรี,371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ปากแรกจบคำซักถามแล้วโดยฝ่ายจำเลยยังมิได้ถามค้าน จำเลยที่ 2 ขอให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทรมานและโดยกระทำทารุณโหดร้าย ฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืน ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรและฐานพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรความผิดฐานฆ่าผู้อื่นกับชิงทรัพย์เป็นความผิดกรรมเดียว และความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90นอกนั้นเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289(5)ให้ประหารชีวิต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ให้ปรับ 100 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ปากสำคัญบางปากแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มั่นคงการรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน แม้ไม่รับสารภาพก็สามารถลงโทษได้อยู่แล้ว การรับสารภาพไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาไม่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงไม่ลดโทษ ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ของกลางริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองใช้ปืนยิงหลายนัดและใช้มีดแทงหลายครั้ง แสดงว่ามีเจตนาฆ่าให้ตายแทบจะในทันทีทันใดมิได้ให้ตายอย่างทรมาน จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่ศาลชั้นต้นลงโทษฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนจึงไม่ถูกต้องเนื่องจากความผิดดังกล่าวมีโทษหนักกว่าชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืน สมควรวางบทลงโทษให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 และมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 340 ตรี การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 288, 83 จำเลยที่ 2 อายุ 19 ปี มีความรู้สึกผิดชอบดี ไม่ลดมาตราส่วนโทษ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา แต่ก่อนส่งสำนวนไปศาลฎีกา จำเลยที่ 1ขอถอนฎีกาศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายตามมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 340 ตรี ให้ลงโทษตามมาตรา 288 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 340 ตรี มีอัตราโทษสูงกว่าความผิดตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันแต่ต้องลงโทษบทหนัก ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขวางบทลงโทษให้ถูกต้องโดยลงโทษไม่สูงกว่าเดิมได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา212 และเห็นว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีมีผลไปถึงจำเลยที่ 1ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วได้ และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรและฐานพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 100 บาท นั้นยังไม่ถูกต้องเนื่องจากความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยทั้งสองคือพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิวรรคสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้เสียให้ถูกต้องด้วย และให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 เช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานชิงทรัพย์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายโดยใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2หนึ่งในสามตามมาตรา 76 ประกอบกับมาตรา 52 แล้วคงจำคุกตลอดชีวิตเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตแล้วจึงไม่ต้องนำโทษตามความผิดกระทงอื่นมารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)และไม่ลงโทษปรับ 100 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share