แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ.2498 มิได้มีมาตราใดให้องค์การฟอกหนังจำเลย เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงกลาโหมโดยตรง จึงมิใช่ราชการส่วนกลางตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
องค์การฟอกหนังจำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบการอุตสาหกรรมและประกอบธุรกิจการค้าเพื่อมุ่งหวังกำไรเป็นรายได้แก่รัฐเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย จึงไม่เป็นกิจการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและโจทก์ จึงเป็นนายจ้างลูกจ้างและอยู่ใต้บังคับของกฎหมายแรงงาน
อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 3 ที่ขอถือเอาคำให้การเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์นั้น ไม่เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 36,600 บาทแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า องค์การจำเลยเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นราชการส่วนกลางไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ตามที่ยกเว้นไว้ในประกาศดังกล่าวฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 1(1) นั้นพิเคราะห์เห็นว่า แม้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498มาตรา 8 กำหนดทุนประเดิมขององค์การจำเลยได้มาจากทุนเดิมของโรงงานฟอกหนัง กรมการอุตสาหกรรมทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 12 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2521 มาตรา 5 จะกำหนดให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจควบคุมกิจการขององค์การจำเลยได้ก็ดี แต่ในพระราชกฤษฎีกานี้มิได้มีมาตราใดให้องค์การจำเลยเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงกลาโหมโดยตรง ทั้งเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ขององค์การจำเลยที่จัดตั้งดังระบุไว้ในมาตรา 6 และ 7 ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498 ก็เห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์ในการประกอบอุตสาหกรรมและการค้า มิใช่เพื่อการบริหารราชการประการใด องค์การจำเลยจึงหาใช่ราชการส่วนกลางตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 1(1) ไม่
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า องค์การจำเลยเป็นกิจการที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498 มาตรา 6 และ 7 อันเป็นบทบัญญัติที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ขององค์การจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบการอุตสาหกรรมและประกอบธุรกิจการค้าเพื่อมุ่งหวังกำไรเป็นรายได้แก่รัฐ เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย องค์การจำเลยจึงไม่เป็นกิจการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้น ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและโจทก์จึงเป็นนายจ้างลูกจ้างและอยู่ใต้บังคับของกฎหมายแรงงานด้วย” ฯลฯ
“สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 3 ที่ขอถือเอาคำให้การเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์นั้น เห็นว่าไม่เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน