คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้ทำการชี้สองสถานหรือทำการสืบพยานโจทก์ย่อมยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์มิได้จงใจทำความเสียหายให้จำเลยจำเลยจะอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์ย่อมเล็งเห็นผลทำให้จำเลยเสียหายอันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยในข้อเท็จจริงมิได้อุทธรณ์จำเลยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54วรรคแรก
ข้อยกเว้นซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหมายถึงได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลให้จำคุกคดีถึงที่สุดขณะที่เป็นลูกจ้างหาใช่ได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วจึงมาเป็นลูกจ้างไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเป็นผู้ขาดคุณสมบัติโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินโบนัสประจำปี 2523 ให้ ขอให้บังคับจำลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 5,550 บาท และเงินโบนัสจำนวน 1,700 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานยาเสพติดไว้ในครอบครอง ถือว่าโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยและโทษผิดวินัยขององค์การโทรศัพท์ประเทศไทย พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2519 หมวด 2 ข้อ 18 อนุ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัส พ.ศ. 2523 ข้อ 9 การที่โจทก์ปกปิดแจ้งเท็จต่อจำเลยกรณีที่โจทก์เคยได้รับโทษจำคุกเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ชั้นพิจารณาโจทก์แถลงว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะก่อนโจทก์จะเข้าทำงานกับจำเลย โจทก์เคยต้องคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุกฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษและยอมรับว่าสำเนาข้อบังคับกับระเบียบปฏิบัติงานตามสำเนาเอกสารท้ายคำให้การตรงกับต้นฉบับซึ่งมีอยู่จริง ศาลแรงงานกลางงดสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่เปิดเผยประวัติถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในขณะขอเข้าทำงานกับจำเลย ไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและการที่โจทก์ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกก่อนเป็นลูกจ้าง ไม่ต้องด้วยข้อ 47(6) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำงานมาครบหนึ่งปีมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายเก้าสิบวันคิดเป็นเงิน 5,550 บาท และเงินโบนัสอีก 1,700 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินโบนัสแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคท้ายว่า คดีนี้เมื่อจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้นัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 19 พฤษภาคม 2524 ครั้นถึงวันนัด ศาลแรงงานกลางเห็นว่าผู้รับมอบฉันทะโจทก์ไม่มีอำนาจดำเนินคดี จึงเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ในวันนัดครั้งที่สองนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตและเมื่อได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำต้องสืบพยานต่อไป จึงให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ซึ่งอนุโลมมาใช้โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้บัญญัติไว้ในวรรคสอง (2) ว่า “คู่ความที่ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การอาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสียและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(10) ให้ความหมายของ “วันสืบพยาน”ว่า หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานเช่นนี้ เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้ทำการชี้สองสถานหรือทำการสืบพยานคู่ความโจทก์ก็สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตามคำร้อง จึงไม่ขัดต่อบทกฎหมายที่จำเลยอ้าง

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์สมัครเข้าทำงาน ในแบบฟอร์มและเงื่อนไขในการสมัครงานอันถือเป็นสภาพการจ้างได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าผู้สมัครงานต้องไม่เคยรับโทษตามคำพิพากษาถึงจำคุก การที่โจทก์ปกปิดความจริงย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าทำให้จำเลยเสียหายเพราะจำเลยจ้างโจทก์ปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานเก็บเงิน จึงต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนนั้น เห็นว่าข้อนี้คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายใด ๆและศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ไม่แจ้งประวัติเคยต้องโทษมาก่อนสมัครทำงาน โจทก์มิได้จงใจจะทำความเสียหายให้จำเลยจำเลยจะอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เช่นนั้นย่อมเล็งผลทำให้จำเลยเสียหายอันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยในข้อเท็จจริงหาได้ไม่ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคแรก

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์เคยได้รับโทษถึงจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 47(6)ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ความในข้อ 47(6) ของประกาศดังกล่าวแล้วเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า ข้อกำหนดดังกล่าวหมายถึงการได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลให้จำคุกคดีถึงที่สุดในขณะที่เป็นลูกจ้าง หาใช่ได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้ว จึงมาเป็นลูกจ้างดังเช่นคดีนี้ไม่ กรณีของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อ 47(6) ของประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้น จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

พิพากษายืน

Share