แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงว่าจะให้ทรัพย์สินอันเป็นผลประโยชน์ที่ผู้ให้จะได้รับจากบริษัทเป็นคราวๆ ตามที่จำหน่ายได้ เป็นคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สิน เมื่อไม่มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ให้ตลอดไป
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมา
โจทก์ทั้งสองสำนวนต่างฟ้องจำเลยคนเดียวกันมีใจความอย่างเดียวกันว่า โจทก์กับจำเลยได้เป็นหุ้นส่วนดำเนินกิจการค้าร่วมกันใช้ชื่อว่า “หุ้นส่วนเหตระกูล” ในระหว่างที่เป็นหุ้นส่วนกันได้มีการติดต่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการบรรจุขวดเซเว่น-อัพ จากบริษัทเซเว่น-อัพ คอปอร์เรชั่นแห่งนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา อันเป็นสิทธิในทรัพย์ชิ้นหนึ่งซึ่งนอกเหนือไปจากการเป็นหุ้นส่วนเหตระกูลต่อมาได้มอบสิทธิแห่งการบรรจุขวดให้แก่บริษัทเซเว่น-อัพ บอตตลิ่ง (กรุงเทพ) จำกัด เป็นผู้ใช้สิทธิ โดยบริษัทเซเว่น-อัพ บอตตลิ่ง(กรุงเทพ) จำกัด ให้ประโยชน์แก่จำเลยและหุ้นส่วนตามจำนวนที่ผลิตและจำหน่ายเป็นรายลัง ๆ ละ 10 สตางค์ โจทก์กับจำเลยจึงรวมกันทำสัญญาแบ่งส่วนที่ได้รับนั้นอีกส่วนหนึ่ง จำเลยได้ 4 สตางค์ โจทก์คนละ 3 สตางค์ต่อหนึ่งลัง จำเลยได้รับประโยชน์ในการใช้สิทธิบรรจุขวดไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2497 ถึงเดือนเมษายน 2504 แต่จำเลยไม่แบ่งประโยชน์ที่ได้รับให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2500 ถึงเดือนเมษายน 2504 ปรากฏตามบัญชีที่จำเลยรับไปเป็นเงิน 363,953.25 บาท จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งเงินค่าใช้สิทธิที่จำเลยได้รับไปแล้วตามส่วนให้แก่โจทก์คนละ 109,185.97 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า “หุ้นส่วนเหตระกูล” ได้เลิกหุ้นส่วนกันแล้วแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2496 สิทธิในการบรรจุขวด จำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้ติดต่อหามาได้ จำเลยได้มอบสิทธิการบรรจุขวดให้แก่บริษัทเซเว่น-อัพ บอตตลิ่ง (กรุงเทพ) จำกัด ซึ่งโจทก์กับจำเลยได้ก่อตั้งขึ้น ทางบริษัทดังกล่าวได้ลงมติให้ออกหุ้นบุริมสิทธิเหมือนหนึ่งได้ใช้เงินเต็มค่าแล้วให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวเป็นจำนวน 6,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองโกรธเคืองจำเลยที่ไม่ยอมแบ่งหุ้นบุริมสิทธิให้บ้าง จึงอาศัยเสียงข้างมากในคณะกรรมการบริษัทลงมติให้จำเลยออกจากตำแหน่งกรรมการ แล้วภายหลังได้ทำการประเมินกันให้จำเลยคืนหุ้น 6,000 หุ้นแก่บริษัท โดยขอรับเป็นเงินค่าตอบแทนในการที่บริษัทใช้สิทธิบรรจุขวดในอัตราลังละ 10 สตางค์ แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ซึ่งโจทก์จะไม่ขอรับส่วนแบ่งและไม่ถือว่ามีส่วนด้วยหรือเป็นของหุ้นส่วนเหตระกูล จำเลยจึงยอมคืนหุ้นบุริมสิทธิ 6,000 หุ้นแก่บริษัทเซเว่น-อัพ บอตตลิ่ง (กรุงเทพ) จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2497 และในวันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาให้บริษัทใช้สิทธิการบรรจุขวดโดยต้องเสียค่าใช้สิทธิให้จำเลยตามจำนวนที่ผลิตและจำหน่ายได้เป็นรายลัง ลังละ 10 สตางค์ และทางบริษัทได้จ่ายค่าใช้สิทธิให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวตลอดมา
หลังจากที่โกรธเคืองกันจนต้องเลิกหุ้นส่วนเหตระกูลแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2496 บิดาโจทก์จำเลยป่วยหนัก ได้ช่วยกันพยาบาลจนบิดาถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2498 โจทก์ได้ถือโอกาสระหว่างนั้นให้บิดาช่วยไกล่เกลี่ย ขอร้องให้จำเลยแบ่งเงินค่าสิทธิในการบรรจุขวดให้แก่โจทก์บ้างจำเลยยอมแบ่งให้โจทก์คนละ 3 สตางค์ต่อ 1 ลังซึ่งเป็นการให้โดยเสน่หา โจทก์ได้ทำบันทึกการแบ่งหุ้นส่วนตามฟ้องไปให้จำเลยลงนามโดยหลอกว่าเป็นสัญญาที่ให้เงินที่ได้รับเป็นค่าสิทธิในการบรรจุขวดบางส่วนตามที่จำเลยตกลงจะให้ จำเลยหลงเชื่อจึงลงนามให้โดยไม่ทราบว่าบันทึกนั้นอ้างถึงการเป็นหุ้นส่วนเหตระกูลซึ่งความจริงได้เลิกกันไปก่อนแล้ว และจำเลยก็ได้ให้เงินแก่โจทก์คนละ 3 สตางค์ต่อ 1 ลัง ตลอดมา จนถึงเดือนธันวาคม 2500 จำเลยจึงบอกเลิกไม่ใช้ เพราะโจทก์กล่าวร้ายและหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยเสียชื่อเสียง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเพิกถอนการให้นั้นเสีย ทั้งการให้เงินนี้ก็ไม่มีกำหนดเวลา จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเลิกให้เสียเมื่อใดก็ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะเรียกร้องให้จำเลยต้องให้เงินโจทก์อีก
ศาลชั้นต้นฟังว่า สิทธินั้นเป็นของจำเลย จะแบ่งแก่ใครก็ได้ไม่ให้ก็ได้ เป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว บันทึกการแบ่งผลประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.3 ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 ถึงมาตรา536 ว่าด้วยลักษณะให้ ข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.3 เป็นเรื่องการให้ทรัพย์สินหรือคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินตามมาตรา 526 ซึ่งไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ผู้รับจึงฟ้องเรียกให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สิน คือ ผลประโยชน์ตามส่วนแบ่งจะให้ในเอกสารหมาย จ.3 นั้น ไม่ได้ ตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่จะปฏิบัติต่อกัน จำเลยจะบอกเลิกเสียเมื่อใดก็ได้จำเลยได้ใช้สิทธิบอกเลิกเพิกถอนแล้วตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบเงินตามสัญญานั้นได้อีก พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า สิทธิในการบรรจุขวดเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวที่โจทก์จำเลยทำเอกสาร จ.3 นี้ไว้ต่อกัน ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจำเลยจะต้องให้โจทก์ไปนานเท่าใด ไม่มีกำหนดเวลาให้จำเลยต้องรับผิดตลอดไป เป็นเรื่องการให้โดยเสน่หา และเป็นเพียงคำมั่นว่าจะให้ซึ่งในกรณีเรื่องนี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยตลอดไป โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบเงินตามเอกสาร จ.3 ต่อไป
พิพากษายืน