คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเรียกเอาเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะจากผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับรถยนต์กระบะคืนตามที่จำเลยนัดหมาย แต่ได้รับคืนเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในท้องที่อื่นคนละท้องที่กับที่จำเลยนัดหมายให้ไปรับคืน ทั้งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยนัดหมายไว้ประมาณ 10 วัน ไม่อาจสันนิษฐานว่าคนร้ายนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปจอดทิ้งไว้เพื่อให้ผู้เสียหายรับคืนไปได้ จำเลยอาจสวมรอยคนร้ายเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเพียงลำพัง มิได้ช่วยคนร้ายจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายโดยวิธีให้ผู้เสียหายไถ่คืน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๓๓๕ , ๓๕๗ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๔๔,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก จำคุก ๔ ปี จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๓ ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ เวลาประมาณ ๓ นาฬิกา ขณะนายเซี้ยน มีเสน ผู้เสียหายนอนอยู่ที่บ้าน ได้ยินเสียงสุนัขเห่า จึงลุกขึ้นมาดู เห็นคนร้าย ๔ คน กำลังเข็นรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – ๖๗๓๐ พัทลุง ของผู้เสียหายออกจากบ้าน ผู้เสียหายไม่กล้าออกไปดู รุ่งเช้าผู้เสียหายไปแจ้งแก่นายถวิล ทองรักขาว ผู้ใหญ่บ้าน นายถวิลพาชาวบ้านช่วยติดตามรถยนต์กระบะ แต่ไม่พบ หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วัน มีคนบอกผู้เสียหายว่าจำเลยฝากมาบอกว่า หากจะไถ่รถยนต์กระบะคืนให้ติดต่อจำเลยได้ ผู้เสียหายจึงให้นายสว่าง อนงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ซึ่งรู้จักจำเลยพาไปพบจำเลยที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เสียหายพูดคุยกับบิดาจำเลยและจำเลย จำเลยเรียกเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือจำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท และจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยไป จำเลยบอกผู้เสียหายว่าอีก ๒ วัน ให้ไปรับรถยนต์กระบะคืนที่อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เสียหายไปตามนัด แต่ไม่ได้รถยนต์กระบะคืน ต่อมาอีกประมาณ ๑๐ วัน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสงยึดได้รถยนต์กระบะดังกล่าวซึ่งจอดทิ้งไว้ในสวนยางพาราในท้องที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เสียหายจึงนำหลักฐานไปขอรับรถยนต์กระบะคืนแต่พบว่าเครื่องปรับอากาศและวิทยุเทปติดรถยนต์สูญหายไป ผู้เสียหายจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัวต่อสู้คดี ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่รับเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะของผู้เสียหาย
จำเลยนำสืบปฏิเสธ โดยอ้างฐานที่อยู่
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายหลายคนเข้าไปในเคหสถานของนายเซี้ยน มีเสน ผู้เสียหาย แล้วร่วมกันลักรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – ๖๗๓๐ พัทลุง ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต่อมาวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๘ เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้รถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งจอดทิ้งไว้ในสวนยางพาราในท้องที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘ หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยเรียกเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือจำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท และมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยไป จำเลยบอกผู้เสียหายว่าอีก ๒ วัน ให้ไปรับรถยนต์กระบะคืนที่อำเภอบางขัน ผู้เสียหายไปตามนัด แต่ไม่ได้รถยนต์กระบะคืน หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วัน เจ้าพนักงานตำรวจพบรถยนต์กระบะของผู้เสียหายจอดทิ้งไว้ในสวนยางพาราในท้องที่อำเภอทุ่งสง เห็นว่า แม้จำเลยจะเรียกเอาเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะจากผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับรถยนต์กระบะคืนตามที่จำเลยนัดหมาย หากแต่ได้รับคืนเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในท้องที่อำเภอทุ่งสงคนละอำเภอกับที่จำเลยนัดหมายให้ไปรับคืน ทั้งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยนัดหมายไว้นานถึงประมาณ ๑๐ วัน ไม่อาจสันนิษฐานว่าคนร้ายนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปจอดทิ้งไว้เพื่อให้ผู้เสียหายรับคืนไปได้ จำเลยอาจสวมรอยคนร้ายเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเพียงลำพัง มิได้ช่วยคนร้ายจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายโดยวิธีให้ผู้เสียหายไถ่คืนก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘ หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share