แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ส. ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตได้รับมอบหมายจากบิดาให้บริหารกิจการของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โดย ช. และ ม. มิได้เกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา ซึ่งการกระทำการแทนจำเลยต้องมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยจึงผูกพันจำเลยตามเงื่อนไขที่ได้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลไว้ การที่ ส. ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทแต่เพียงผู้เดียวจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จดทะเบียนนิติบุคคลไว้ดังกล่าว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการสั่งจ่ายในนามของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่า ช. หรือ ม. ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการเชิดหรือยินยอมให้ ส. นำเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อปลอมของผู้ร่วมสั่งจ่ายไปแลกเงินสดจากโจทก์ได้ เมื่อจำเลยมิใช่ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเนื้อความในเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,139,061.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,105,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 420,000 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2544 ของต้นเงิน 415,000 บาท นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2544 ของต้นเงิน 410,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ของต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2544 ของต้นเงิน 420,000 บาท นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2544 และของต้นเงิน 415,000 บาท นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (28 พฤศจิกายน 2544) ต้องไม่เกิน 34,061.01 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสุกิจ นายสุชาติ และนายสมชาย ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นกรรมการ โดยกรรมการสองในสามคนมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนจำเลยได้ จำเลยประกอบกิจการโรงงานทอผ้า มีโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย เมื่อวันที่ 1 และวันที่ 15 มิถุนายน 2544 นายสุกิจนำเช็คพิพาททั้งหกฉบับตามฟ้อง คือ เช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ ฉบับแรกลงวันที่ 1 สิงหาคม 2544 จำนวนเงิน 420,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 กันยายน 2544 จำนวนเงิน 415,000 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จำนวนเงิน 410,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 จำนวนเงิน 25,000 บาท ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 15 กันยายน 2544 จำนวนเงิน 420,000 บาท และฉบับที่ 6 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2544 จำนวนเงิน 415,000 บาท มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ โดยนายสุกิจในฐานะกรรมการของจำเลยได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ และมีลายมือชื่อปลอมของนายสุชาติเป็นผู้ร่วมสั่งจ่าย ต่อมา เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเยาวราช เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับ โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายและบัญชีปิดแล้ว” ตามหลักฐานเช็ค และใบคืนเช็ค
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ หรือไม่ ในข้อนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือชื่อปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่ คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้” เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กล่าวไว้โดยแจ้งชัดว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินที่อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้มีลักษณะเช่นใดก็ตาม แต่บุคคลดังกล่าวย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินอันเนื่องมาจากเป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 หาใช่ว่าแม้บุคคลที่มิได้ลงชื่อในตั๋วเงินก็ยังต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นไม่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของจำเลยว่า นายสุกิจซึ่งเป็นพี่ชายคนโตได้รับมอบหมายจากบิดาให้บริหารกิจการของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โดยนายสุชาติและนายสมชายมิได้เกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา ซึ่งการกระทำการแทนจำเลยต้องมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยจึงผูกพันจำเลยตามเงื่อนไขที่ได้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลไว้ การที่นายสุกิจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทแต่เพียงผู้เดียวจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จดทะเบียนนิติบุคคลไว้ดังกล่าว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการสั่งจ่ายในนามของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่านายสุชาติหรือนายสมชายซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการเชิดหรือยินยอมให้นายสุกิจนำเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อปลอมของนายสุชาติเป็นผู้ร่วมสั่งจ่ายไปแลกเงินสดจากโจทก์ได้ แม้ทางพิจารณาได้ความว่า นายสุกิจเคยนำเช็คซึ่งตนได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายร่วมกับลายมือชื่อปลอมของนายสุชาติไปแลกเงินสดกับบิดาโจทก์ และเช็คดังกล่าวสามารถเรียกเก็บเงินได้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่านายสุชาติยินยอมให้นายสุกิจกระทำการเช่นนั้นได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยยินยอมให้นายสุกิจออกเช็คพิพาทในนามของจำเลย เมื่อจำเลยมิใช่ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเนื้อความในเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ