คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยยื่นฎีกาแทนจำเลย เพราะจำเลยหลบหนี เป็นกรณีไม่เข้าข่าย มาตรา 201 ตามที่ได้แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2499 เพราะมิใช่กรณีส่งสำเนาฎีกาแก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ศาลฎีกาจึงต้องจำหน่ายคดีเสีย

ย่อยาว

คดีนี้ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาว่า นายเทียม จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ปรับ 1,200 บาท แต่นายเทียม จำเลยเบิกความรับว่า มีปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตมีผลเท่ากับรับสารภาพจึงให้ลดโทษเสีย 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงปรับนายเทียม จำเลยเป็นเงิน 800 บาทค่าปรับจัดการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18 นอกจากที่ลงโทษนายเทียมจำเลยดังกล่าวนี้ ข้อหาอื่นของโจทก์ให้ยกเสียทั้งสิ้น ปล่อยนายม้วย นายพลอย จำเลยไป ปืนของกลางริบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า นายม้วยจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249ประกอบด้วยมาตรา 60 ให้จำคุกฐานนี้ 10 ปี และนายม้วย จำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้ปรับอีก 600 บาท คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยนับว่ามีประโยชน์แก่ทางพิจารณาอยู่ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงเหลือโทษจำคุกนายม้วย จำเลยมีกำหนด 6 ปี 8 เดือนกับปรับ 400 บาท ไม่เสียค่าปรับจัดการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18 นอกจากที่แก้ไขคงเป็นไปตามเดิม

นายสวัสดิ์ คำประกอบ ทนายนายม้วย จำเลยยื่นฎีกาแทนจำเลย

ศาลฎีกาได้ประชุมและปรึกษาคดีนี้ปรากฏว่า ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง คู่ความได้ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ถึงกำหนดโจทก์มาศาล นายพลอย นายเทียม จำเลยไม่มาศาล เพราะส่งหมายให้ไม่ได้ ส่วนนายม้วย จำเลยรับหมายแล้วแต่หลบหนีไม่มาศาล ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังมีใจความดังกล่าวเบื้องต้น โดยอ่านลับหลังจำเลย ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 ต่อมานายสวัสดิ์ คำประกอบ ทนายนายม้วยจำเลยยื่นฎีกาทั้ง ๆ ที่นายม้วย จำเลยหลบหนี ศาลชั้นต้นได้รับฎีกาของทนายนายม้วย จำเลยส่งศาลฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกาจำต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษา และคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลมก็ตาม แต่กรณีนี้ไม่เข้าข่ายแห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 เพราะมิใช่กรณีส่งสำเนาฎีกาแก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบหรือจงใจไม่รับสำเนาฎีกา หรือรับแก้ฎีกาแล้ว หรือพ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงให้ศาลชั้นต้นรีบส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป

ฉะนั้น จึงให้จำหน่ายคดีนี้เสียจากสารบบความ

Share