แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีนายโซวิชัยเป็นผู้รับมอบอำนาจได้ร่วมกันนำข้อความไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ว่า มีบริษัทหลายบริษัทได้ผลิตรองเท้ายางปลอมใช้ตราดาวของจำเลย ตรานี้จำเลยได้จดทะเบียนไว้ เมื่อเป็นดังนี้จึงจำเป็นต้องนำเจ้าหน้าที่ไปจับผู้ทำการดังกล่าวมาดำเนินคดี แล้วออกชื่อโจทก์ทั้ง 4 (ซึ่งความจริงโจทก์ได้ถูกจำเลยนำเจ้าพนักงานไปจับมาดำเนินคดีฐานจำหน่ายรองเท้ามีตราดาวปลอมจริง) ทั้งนี้เพื่อให้ข่าวแพร่หลายไป โดยประสงค์เพื่อกันมิให้ผู้อื่นที่จะกระทำการเลียนหรือปลอม มิได้เจตนาอย่างอื่น เช่นนี้ ถือว่า จำเลยเจตนาต่อสู้ป้องกันตนหรือเพื่อป้องกันประโยชน์ของตน แม้ข้อความจะทำให้โจทก์เสียหาย หรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ กรณีก็ต้องตามกฏหมายลักษณะอาญา มาตรา 283(1) จำเลยจึงไม่มีโทษฐานหมิ่นประมาท.
ย่อยาว
คดีทั้ง ๔ สำนวนนี้ ซึ่งศาลสั่งพิจารณารวมกัน โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๑๖ ถึง ๒๓ เมษายน ๒๔๙๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยในคดีนี้ได้บังอาจสมคบกันหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฯลฯ โดยลงประกาศว่า “…..ฯลฯ ปรากฏว่ายังมีโรงงานผลิตรองเท้ายางหลายโรงได้ละเมิดต่อเครื่องหมายการค้าตราดาวของบริษัทโดยได้บังอาจทำรองเท้ายางปลอมขึ้น โดยใช้ตราดาวของบริษัทประทับบนพื้นรองเท้า เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นรองเท้ายางที่ทำขึ้นโดยบริษัทนานยาง ๆ จำกัด และพ่อค้ารองเท้ายางอีกจำนวนมากก็ได้ทำการจำหน่ายรองเท้าตราดาวปลอม โดยรู้
เพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทนานยางจำกัด จึงได้ดำเนินการกับโรงงานทำรองเท้ายางตราดาวปลอม โดยนำจับโรงงานทำรองเท้ายางตราดาวปลอมต่อกองปราบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดีต่อไป คือ
บริษัทไทยเยี่ยม (โรงงานยาง) จำกัด
บริษัทเคี้ยงมุ้ยอุตสาหกรรม จำกัด
บริษัทโคลี่อุตสาหกรรม จำกัด
ข้อความที่ลงพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้เสียชื่อเสียง หรืออาจทำให้คนดูหมื่นเกลียดชัง จึงฟ้องขอให้ศาลลงโทษและให้จำเลยพิศูจน์ความจริง
จำเลยต่อสู้คดีว่า ได้ทำไปเพื่อป้องกันและรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ ๒ ได้มอบให้จำเลยที่ ๑ โฆษณาในหนังสือพิมพ์จึงได้รับความยกเว้นไม่เป็นผิด ตามกฏหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๘๓(๑)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฏีกา
ศาลฏีกาวินิจฉัยข้อกฏหมายที่ฎีกาขึ้นมาว่า แม้ถึงว่าพฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงตามที่ศาลทั้งสองฟังต้องกันมาดังกล่าวแล้วนั้นมีความหมายหมิ่นประมาทโจทก์ก็ดี ก็ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ในการป้องกันประโยชน์แห่งการค้ำของฝ่ายตนอันชอบด้วยกฏหมาย จึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามกฏหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๘๓(๑) จึงไม่มีโทษฐานหมิ่นประมาท จึงพิพากษายืน.