คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เริ่มรับราชการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2500 รวมเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ 13 ปี 7 เดือน 17 วัน ต่อมาโจทก์เข้ารับราชการอีกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2504 แล้วลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 24มีนาคม 2526 รวมเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครั้งหลัง26 ปี 10 เดือน 3 วัน ดังนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ลาออกจากราชการครั้งก่อนโดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากราชการโดยได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามมาตรา 30(3) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯ แล้ว โจทก์จึงจะนำเวลาราชการตอนก่อนมารวมกับเวลาราชการครั้งหลังเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญหาได้ไม่เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯมาตรา 30.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เริ่มรับราชการเป็นข้าราชการสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2500 รวมเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ 13 ปี 7 เดือน 17 วัน การลาออกครั้งนี้โจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ ฯ มาตรา 17ต่อมาโจทก์เข้ารับราชการในกรมอัยการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม2504 แล้วลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2526 รวมเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครั้งหลัง 26 ปี 10 เดือน 3 วันขณะออกจากราชการโจทก์ได้รับเงินเดือน เดือนละ 15,575 บาทโจทก์ได้ขอรับบำนาญต่อกรมอัยการโดยระบุว่ามีเวลาราชการรวม 40 ปี 5 เดือน 20 วัน เมื่อคำนวณบำนาญแล้วโจทก์จะได้รับบำนาญเดือนละ 12,460 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่1 ได้สั่งจ่ายบำนาญเหตุรับราชการนานให้โจทก์เป็นเงินเดือนละ 8,410.50 บาทโดยจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์มีเวลารับราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญรวมทั้งสิ้น 26 ปี 10 เดือนเศษ ปัดเป็น 27 ปี เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบำนาญน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์จะได้รับตามกฎหมายเป็นเงินเดือนละ 4,049.50 บาทต่อมาโจทก์ได้เข้ารับราชการในกรมอัยการอีกเมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2526 จึงบอกเลิกรับบำนาญตั้งแต่วันดังกล่าว ในช่วงเวลาที่โจทก์ลาออกเป็นเวลา 3 เดือน 8 วันโจทก์ได้รับบำนาญน้อยไป 13,193.50 บาท ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธินับเวลาราชการตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2487 ถึงวันที่14 ตุลาคม 2500 ครั้งแรกมารวมกับเวลาราชการครั้งหลังตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2504 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2526 ได้ และบังคับจำเลยทั้งสองดำเนินการและสั่งการเรื่องราวขอรับบำนาญของโจทก์ว่ามีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญรวมทั้งสิ้น40 ปี 5 เดือนเศษ ให้จำเลยสั่งจ่ายบำนาญเพิ่มให้โจทก์อีกเดือนละ 4,049.50 บาท รวมเวลา 3 เดือน 8 วัน เป็นเงิน 13,193.50บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์มีเวลารับราชการ 2 ตอน สำหรับเวลาราชการตอนแรกนั้นขณะโจทก์ลาออกมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯ มาตรา 17 ต่อมาโจทก์เข้ารับราชการใหม่แล้วลาออกอีกตอนหนึ่งมีเวลาสำหรับคำนวณในตอนหลัง 26 ปี 10 เดือน 3 วัน โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับบำนาญโดยนับเวลาราชการทั้งสองตอนเข้าด้วยกันเป็น 40 ปี 5 เดือน 20 วันจำเลยสั่งจ่ายบำนาญเหตุรับราชการนานแก่โจทก์ โดยนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญรวมทั้งสิ้น 26 ปี 10 เดือนเศษ ปัดขึ้นเป็น 27 ปี เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่มีสิทธินับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญโดยนำเวลาราชการตอนแรกมานับรวมกับเวลาราชการตอนหลัง เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯ มาตรา 30 ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ลาออกจากราชการตอนแรกโดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญบำนาญข้าราชการ ฯ มาตรา 30 (3) จึงนำเวลาราชการตอนแรกมารวมกับเวลาราชการตอนหลังของโจทก์ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 30 จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายบำนาญให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่นำเวลาราชการตอนแรกมานับรวมเวลาราชการตอนหลังของโจทก์เพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญเป็นการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองนับเวลาราชการของโจทก์ทั้งสองตอนสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายบำนาญเพิ่มแก่โจทก์เดือนละ 4,049.50 บาท รวมเวลา 3 เดือน 8 วัน เป็นเงิน13,193.50 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 โจทก์เริ่มรับราชการ…..และได้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2500 รวมเวลาราชการ 13 ปี7 เดือน กับมีเวลาราชการทวีคูณอีก 17 วัน รวมเวลาราชการตอนก่อน 13 ปี 7 เดือน 17 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2504โจทก์เข้ารับราชการตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแล้วลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2526 มีเวลาราชการที่รับราชการครั้งใหม่ 21 ปี 5 เดือน 21 วัน กับมีเวลาราชการทวีคูณอีก 5 ปี 4เดือน 12 วัน รวมเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครั้งใหม่26 ปี 10 เดือน 3 วัน มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่าจะนำเวลาราชการตอนก่อนของโจทก์จำนวน 13 ปี 7 เดือน 17 วันมารวมกับเวลาราชการครั้งใหม่เพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญได้หรือไม่……..ศาลฎีกาเห็นว่า จากบทบัญญัติตามมาตราต่าง ๆเห็นได้ว่าคำว่า ออกจากราชการในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 หมายถึงการที่ข้าราชการพ้นจากราชการนั่นเอง ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการพ้นจากราชการเพราะลาออกด้วยกรณีของโจทก์ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ลาออกจากราชการครั้งก่อนโดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากราชการโดยได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามมาตรา 30 (3) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์เข้ารับราชการใหม่ จึงต้องคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญเฉพาะการรับราชการครั้งใหม่เท่านั้น จะนำเวลาราชการตอนก่อนมารวมกับเวลาราชการครั้งใหม่หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 30 จำเลยทั้งสองคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญเฉพาะการรับราชการครั้งใหม่ให้โจทก์ชอบแล้ว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share