แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคของโครงการรวมทั้งจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ประกาศโฆษณาขายอาคารชุด การที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลให้ระบบป้องกันอัคคีภัยใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ในการมีระบบป้องกันอัคคีภัย หากระบบป้องกันอัคคีภัยไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยจนสามารถใช้งานได้ ตามที่โฆษณาไว้ เมื่อต่อมาโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และปรากฏแก่โจทก์ว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นมาติดตั้งไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดแก้ไขปรับปรุงให้การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยใช้งานได้สมบูรณ์
ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาจำเลยที่ 2 ติดตั้งแก่อาคารชุด ไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยให้สามารถใช้งานได้ การที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้พนักงานของตนตรวจสอบแก้ไขระบบดังกล่าวจึงเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสายไฟฟ้าเข้าระบบผิด ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร เกิดความเสียหายแก่ระบบป้องกันอัคคีภัย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนก่อให้เกิดขึ้นดังกล่วด้วยตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยที่ได้รับความเสียหายให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควร โจทก์ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเข้าจัดการในทรัพย์สินของตน โดยจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการและเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสองได้ หากต้องรอจนจำเลยทั้งสองแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยซึ่งไม่อาจคาดหมายกำหนดเวลาเสร็จสิ้นได้ ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินโครงการอาคารชุดรัตนโกสินทร์วิว แมนชั่น โดยโฆษณาว่าโครงการอาคารชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีอุปกรณ์ระบบป้องกันอัคคีภัย จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารชุดดังกล่าว แต่ระบบป้องกันอัคคีภัยที่ติดตั้งชำรุดบกพร่องตลอดมาจนโจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการแก้ไข แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจทำให้ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2539 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในระบบป้องกันอัคคีภัย จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการดำเนินการตรวจสอบแก้ไข แต่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ต่อสายไฟผิด โดยต่อสายไฟสลับ 220 โวลต์เข้ากับวงจรอิเล็กทรอนิกส์และไมโครโปรเซสเซอร์ของระบบ เป็นเหตุให้เกิดการซ็อตและอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับความเสียหายเกินกว่าที่จะทำการแก้ไข โจทก์ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รวม 6 รายการ เป็นเงิน 2,520,558 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,520,558 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จำหน่ายอาคารชุดให้แก่เจ้าของห้องชุดพร้อมส่งมอบอุปกรณ์สาธารณูปโภครวมทั้งระบบป้องกันอัคคีภัยในสภาพเรียบร้อยให้โจทก์ในฐานะตัวแทนของเจ้าของรวมรับมอบไว้ตั้งแต่ปี 2536 แล้ว ความชำรุดบกพร่องของระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 หรือตัวแทน หรือความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ แต่เกิดจากการเสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติตลอดจนการกระทำของโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์เองทั้งสิ้นและนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงนับแต่พ้นระยะเวลารับประกันในปี 2537 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กันอย่างตัวการตัวแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ความเสียหายของอุปกรณ์เตือนภัยไม่ถึงขนาดไม่สามารถแก้ไขได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในความชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย จำเลยที่ 2 เข้าไปดำเนินการวางสายไฟและลูกจ้างมีหน้าที่วางสายไฟได้ทำการนอกเหนือที่ว่าจ้างโดยต่อสายไฟผิด ซึ่งโจทก์มีส่วนประมาทร่วมอยู่ด้วยที่ไม่จัดผู้ดูแลการดำเนินงานของลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ยอมรับผิดในส่วนที่เกิดความเสียหายจากการต่อสายไฟผิด โดยจัดการซ่อมแซมให้กลับดีดังเดิมแล้ว หากโจทก์ยังเสียหายอยู่ค่าเสียหายก็ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หลายอย่างตามฟ้องไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นความต้องการเปลี่ยนแปลงในระบบป้องกันอัคคีภัยใหม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินโครงการอาคารชุดรัตนโกสินทร์วิว แมนชั่น จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 2 ติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารชุดดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 จัดซื้ออุปกรณ์ระบบป้องกันอัคคีภัยจากบริษัทเซ็คคอม เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด และหลังจากติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยแล้ว จำเลยที่ 1 รับมอบงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยที่ยังมีข้อบกพร่อง ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง วันที่ 16 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่าได้ติดต่อบริษัทเซ็คคอม เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ให้ส่งวิศวกรไปแก้ไขระบบดังกล่าว และจำเลยที่ 2 มอบหมายให้นายวีระธรรม เป็นผู้ดูแลประสานงาน หลังจากนั้นวันที่ 26 กันยายน 2539 พนักงานของจำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสายไฟฟ้าเข้าระบบผิด ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดความเสียหายแก่ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าว โจทก์ว่าจ้างให้บริษัทสมิทธิ์ อินเตอร์เนชั่นแนลมาเก็ตติ้ง จำกัด ดำเนินการเปลี่ยนและติดตั้งอุปกรณ์ระบบป้องกันอัคคีภัยจนใช้การได้ดีแล้ว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายของระบบป้องกันอัคคีภัยอาคารชุดรัตนโกสินทร์วิว แมนชั่น หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดรัตนโกสินทร์วิว แมนชั่น ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคของโครงการรวมทั้งจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ประกาศโฆษณาขายอาคารชุดดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องดูแลให้ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ในการมีระบบป้องกันอัคคีภัย หากระบบป้องกันอัคคีภัยไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวจนสามารถใช้งานได้ ตามที่โฆษณาไว้ เมื่อต่อมาโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และปรากฏแก่โจทก์ว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นมาติดตั้งดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดแก้ไขปรับปรุงให้การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวใช้งานได้สมบูรณ์ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบทดลองระบบป้องกันอัคคีภัยที่ติดตั้งในอาคารชุดรัตนโกสินทร์วิว แมนชั่น โดยนายเสรี พยานจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า ในตอนแรกระบบเตือนอัคคีภัยทำงานไม่ปกติ เมื่อระบบเตือนอัคคีภัยทำงานผิดพลาดฝ่ายอาคารจะติดต่อกับบริษัทเซ็คคอม เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับเหมามาดำเนินการแก้ไข แต่พนักงานของบริษัทดังกล่าวมาช้าบ้างไม่มาบ้าง จำเลยที่ 1 จึงช่วยติดตามบริษัทดังกล่าวให้มาดำเนินการ ซึ่งเห็นได้ว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยยังใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีการติดตามผู้รับจ้างให้ตรวจแก้ไขมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาจำเลยที่ 2 ติดตั้งแก่อาคารชุดรัตนโกสินทร์วิว แมนชั่น ไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์จริง จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้ การที่จำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างมอบหมายให้พนักงานของตนตรวจสอบแก้ไขระบบดังกล่าว จึงเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสายไฟฟ้าเข้าระบบผิด ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดความเสียหายแก่ระบบป้องกันอัคคีภัยดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนก่อให้เกิดขึ้นดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซ่อมและเปลี่ยนอุปกรณ์ตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นเงิน 2,520,558 บาท ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกับอุปกรณ์เดิม ถ้าติดตั้งทั้งระบบมีราคาประมาณ 4,000,000 บาท ราคาอุปกรณ์ที่โจทก์เปลี่ยนใหม่ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.14 มีตู้ควบคุมระบบสัญญาณเตือนภัย ตู้แยกแจ้งเหตุเตือนอัคคีภัยชุดควบคุมโซนแจ้งเหตุอัคคีภัย อุปกรณ์รับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ตรวจจับควัน และตามรายงานการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม “วิสามัญ” ครั้งที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 ระบุว่า โจทก์จะทำการเปลี่ยนระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยของอาคารทั้งหมดใหม่ตามที่บริษัทสมิทธิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เกตติ้ง จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 4,000,000 บาท ต่อรองราคาได้เหลือราคา 3,600,000 บาท แต่โจทก์เสียค่าอุปกรณ์เป็นเงิน 2,502,558 บาท น้อยกว่าราคาที่บริษัทสมิทธิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เกตติ้ง จำกัด เสนอในการเปลี่ยนสัญญาณเตือนอัคคีภัยทั้งระบบประมาณ 1,000,000 บาท เชื่อว่า โจทก์ว่าจ้างให้บริษัทสมิทธิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เกตติ้ง จำกัด เปลี่ยนอุปกรณ์ของระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยเพียงบางส่วนมิได้เปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ความรับผิดของจำเลยทั้งสองในความเสียหายของโจทก์ในชั้นต้นคงมีอยู่เพียงในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยเดิมเท่านั้น ซึ่งฝ่ายจำเลยที่ 2 นำสืบว่าหลังจากที่พนักงานของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 สั่งอะไหล่จากบริษัทเซ็คคอม เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด และดำเนินการเปลี่ยนอะไหล่แล้ว แต่เครื่องตรวจสอบพบอะไหล่เสียเพิ่มเติมจากที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยสายตาในครั้งก่อนต้องเปลี่ยนอะไหล่เพิ่มเติมอีก 2 รายการ คือ ชุดควบคุมโซนแจ้งเหตุอัคคีภัยตัวลูก (Zam Monitor) จำนวน 27 ชุด และชุดควบคุมโซนแจ้งเหตุอัคคีภัยตัวกระดิ่ง (Zam Signal) จำนวน 13 ชุด เป็นเงิน 160,649.06 บาท ตามหนังสือสั่งอะไหล่เพิ่มเติมของผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ล.8 และใบเสนอราคาค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเอกสาร ล.9 ซึ่งโจทก์ทราบดีถึงการซ่อมแซมแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยของจำเลยที่ 2 แต่มิได้โต้แย้งว่าการเปลี่ยนอะไหล่ดังกล่าวไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะซ่อมแซมแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยอย่างไร จึงรับฟังได้ว่า วิธีการซ่อมแซมแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยของจำเลยที่ 2 สามารถกระทำได้โดยการเปลี่ยนอะไหล่ตามที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการอยู่หรือหากมีอุปกรณ์อื่นที่ต้องเปลี่ยนเพิ่มเติมก็เพิ่มไม่มาก การที่โจทก์เปลี่ยนอุปกรณ์ตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นเงินถึง 2,520,558 บาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ต่างยี่ห้องกับของเดิมย่อมมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าใช้อุปกรณ์ยี่ห้อเดิมมาก ทั้งยังเปลี่ยนอุปกรณ์นอกเหนือจากที่เสียหายอีกด้วย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริงของโจทก์ แต่การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยที่ได้รับความเสียหายให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควร โจทก์ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเข้าจัดการในทรัพย์สินของตน โดยจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการและเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสองได้ หากต้องรอจนจำเลยทั้งสองแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยซึ่งไม่อาจคาดหมายกำหนดเวลาเสร็จสิ้นได้ ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 215 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมา โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ควรเป็นจำนวนเท่าใด เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แก่โจทก์ตามสมควรที่โจทก์จำต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนระบบอุปกรณ์ต่างยี่ห้อกับอุปกรณ์เดิมเฉพาะในส่วนอุปกรณ์ที่บกพร่องจากการติดตั้งและเสียหายจากการกระทำละเมิดของพนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ 660,649.06 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 660,649.06 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 เมษายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ตามส่วนที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลเป็นเงิน 30,000 บาท