คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองสายเคเบิลโทรศัพท์ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางหลวงโดยกรมทางหลวงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับ ตรวจตรา ควบคุมและบำรุงรักษา รวมทั้งการบูรณะและการขยายทาง ผู้ใดจะใช้หรือทำสิ่งใดๆ ต่อทางดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงย่อมมีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่ หรืออนุญาตภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดก็ได้ถ้ามีการอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดไว้ ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเช่นนั้น ซึ่งหน้าที่เช่นนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยอาศัยสิทธิของผู้ได้รับอนุญาต ดังนั้น เงื่อนไขหรือข้อกำหนดใดที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องรักษาหรือปฏิบัติต่อกรมทางหลวง อันเกี่ยวข้องกับการใช้ทางหลวงในบริเวณที่เกิดเหตุ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในฐานะผู้ร่วมการงานและร่วมลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เข้ามาโดยอาศัยสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดดังกล่าวด้วย เพราะหากปราศจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะใช้ทางหลวงดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่ากรมทางหลวงโดยแขวงการทางกาญจนบุรีได้มีหนังสือถึงองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยผ่านทางหัวหน้าชุมสายโทรศัพท์กาญจนบุรีให้ดำเนินการรื้อย้ายบรรดาสาธารณูปโภคอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตบริเวณทางหลวงที่จะก่อสร้างซึ่งรวมถึงทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว กรมทางหลวงย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีกเพราะเป็นกรณีที่ถือว่าโจทก์ทราบแล้ว
การที่โจทก์ได้ทราบการขุดถนนของจำเลยที่ 1 แล้วก่อนเกิดเหตุ แต่ก็มิได้ไยดีว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินของตน พฤติการณ์ดังกล่าวถ้ามิใช่การตั้งใจเข้าเสี่ยงภัยอันถือได้ว่าเป็นการยินยอมก็เป็นการประมาทของฝ่ายโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างทางพิพาทโดยกรมทางหลวงได้แจ้งให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบ ซึ่งถือว่าโจทก์ได้ทราบแล้วได้เข้าดำเนินการตามคำสั่งและภายในกรอบเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ ย่อมถือได้ว่าไม่มีความประมาทในการดำเนินการดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะสามารถอนุมานได้ว่าถึงหากกรมทางหลวงเข้าดำเนินการด้วยตนเองก็คงจะทำอย่างจำเลยที่ 1 เช่นกัน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ย่อมไม่แตกต่างกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสามขับรถแบ็กโฮขุดทำถนนและวางท่อระบายน้ำถนนสายกาญจนบุรี – ลาดหญ้า โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโดนท่อร้อยสายเคเบิลโทรศัพท์ของโจทก์ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 338,271.72 บาท โจทก์ใช้เวลาซ่อมแซมแก้ไขเป็นเวลา 5 วันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 423,512.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้น 368,271.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองสายเคเบิลโทรศัพท์ดังกล่าว โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า คนขับรถแบ็กโฮเป็นใคร ชื่ออะไร เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยทั้งสามไม่ใช่ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนที่เกิดเหตุ รถแบ็กโฮที่โจทก์อ้างไม่ใช่คันที่ทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของคนขับรถแบ็กโฮและไม่เคยใช้ให้ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสามไปขับรถแบ็กโฮที่โจทก์อ้าง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิด ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดของโจทก์และคู่สัญญาของโจทก์ที่ละเว้นการกระทำตามข้อตกลงระหว่างแขวงการทางกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกล่าวคือ ก่อนมีการก่อสร้างถนนและท่อระบายน้ำดังกล่าวแขวงการทางมีหนังสือแจ้งไปยังหัวหน้าชุมสายโทรศัพท์กาญจนบุรีขอให้ย้ายสายเคเบิลที่ฝังอยู่ออกไปให้พ้นบริเวณก่อสร้างภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์และคู่สัญญาของโจทก์จงใจละเว้นโดยไม่ขนย้ายสายเคเบิลดังกล่าว ถือว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเอง การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินกว่าความจริงความเสียหายของโจทก์มีไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์มีหน้าที่ต้องซ่อมแซมความเสียหายเอง จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยอ้างว่าต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพราะเป็นการนำมาทำธุรกิจการค้าของโจทก์ เหตุคดีนี้เกิดก่อนวันที่ 19 ธันวาคม 2540 คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบิรการโทรศัพท์ 1,000,000 เลขหมายในเขตโทรศัพท์ภูมิภาค โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองสายเคเบิลโทรศัพท์ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับจ้างกรมทางหลวงโดยแขวงการทางกาญจนบุรีให้ก่อสร้างขยายและปรับปรุงถนนกาญจนบุรี – ลาดหญ้า ซึ่งรวมถึงถนนบริเวณที่เกิดเหตุหน้าโรงแรมมิตรพันธ์คอมเพล็กซ์ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนจำเลยที่ 1 ลงมือก่อสร้างแขวงการทางกาญจนบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน 2540 ถึงชุมสายโทรศัพท์กาญจนบุรีให้ย้ายสาธารณูปโภคอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ออกไปจากบริเวณที่จะก่อสร้างภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2540 กรมทางหลวงและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกันไว้เกี่ยวกับเรื่องการปักเสาพาดสายวางท่อร้อยสาย สร้างบ่อพัก ตั้งตู้สลับสาย หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตทางหลวง อันเป็นข้อตกลงทั่วไป และกรมทางหลวงได้มีหนังสืออนุญาตสำหรับกรณีการก่อสร้าง ขยายและปรับปรุงถนนกาญจนบุรี – ลาดหญ้า ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยขอมา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่สายเคเบิลโทรศัพท์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางหลวง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยกรมทางหลวงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับ ตรวจตรา ควบคุมและบำรุงรักษา รวมทั้งการบูรณะและการขยายทางดังกล่าว ผู้ใดจะใช้หรือทำสิ่งใดๆ ต่อทางดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่หรืออนุญาตภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดอย่างไรก็ได้ถ้ามีการอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดไว้ ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเช่นนั้น ซึ่งหน้าที่เช่นนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยอาศัยสิทธิของผู้ได้รับอนุญาต ดังนั้น เงื่อนไขหรือข้อกำหนดใดที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องรักษาหรือปฏิบัติต่อกรมทางหลวง อันเกี่ยวข้องกับการใช้ทางหลวงในบริเวณที่เกิดเหตุ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตทางหลวงดังกล่าวในฐานะผู้ร่วมการงานและร่วมลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เข้ามาโดยอาศัยสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดดังกล่าวด้วย เพราะหากปราศจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะใช้ทางหลวงดังกล่าวได้เสมือนดั่งโจทก์เป็นตัวการและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงจากกรมทางหลวงแทนโจทก์ ซึ่งตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 8 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่กรมทางหลวงจะทำการก่อสร้าง บูรณะหรือขยายทางหลวง เมื่อกรมทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้รื้อย้ายเสา พาดสาย ท่อร้อยสาย บ่อพัก ตั้งตู้สลับสาย หรือสิ่งใดๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ออกไปให้พ้นเขตก่อสร้างทางหลวงภายในเวลาที่กำหนด องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะทำการรื้อย้ายให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้ง โดยเป็นผู้จัดหาสถานที่และเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และตามหนังสืออนุญาตที่กรมทางหลวงอนุญาตให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้ทางหลวงที่เกิดเหตุดำเนินการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ในข้อ 7 (7) ว่าเมื่อกรมทางหลวงต้องสร้างหรือขยายทางหลวงหรือซ่อมแซมบำรุงทางหลวง ถ้าทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะได้เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากกรมทางหลวง เมื่อปรากฏว่ากรมทางหลวงโดยแขวงการทางกาญจนบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน 2540 ถึงองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยผ่านทางหัวหน้าชุมสายโทรศัพท์กาญจนบุรีให้ดำเนินการรื้อย้ายบรรดาสาธารณูปโภคอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตบริเวณทางหลวงที่จะก่อสร้างซึ่งรวมถึงทางบริเวณที่เกิดเหตุภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2540 แล้ว กรมทางหลวงย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก เพราะเป็นกรณีที่ถือว่าโจทก์ทราบแล้วเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 19 และ 25 ธันวาคม 2540องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและโจทก์มีเวลาถึง 3 เดือนเศษ ที่จะดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งไปเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย หากมีข้อขัดข้องประการใดก็สมควรอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้กรมทางหลวงทราบเพื่อแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ต่อไป ตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการบอกกล่าวของกรมทางหลวง นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายอิทธินันท์ช่างเทคนิคของโจทก์ที่สาขาจังหวัดกาญจนบุรีเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสามว่า ก่อนเกิดเหตุพยานทราบว่ามีการขุดถนน เพราะขับรถผ่านเห็นรถแบ็กโฮ และบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีป้ายบอกว่ามีสายเคเบิลของโจทก์ฝังอยู่ พยานคิดว่าคนทั่วไปไม่ทราบว่ามีสายเคเบิลดังกล่าวฝังอยู่ และนายวันชัยผู้จัดการแผนกซ่อมและบำรุงรักษาข่ายสายที่ดูแลรับผิดชอบเขตที่เกิดเหตุเบิกความว่า นายอิทธินันท์ได้แจ้งให้ทราบถึงเหตุที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2540 แสดงว่าฝ่ายโจทก์ได้ทราบการขุดถนนของจำเลยที่ 1 แล้วก่อนเกิดเหตุ แต่ก็มิได้ไยดีว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินของตน ทำให้อาจมองได้ว่าโจทก์อาจคิดว่าถ้าโจทก์ย้ายทรัพย์สินทั้งหมดตามที่กรมทางหลวงแจ้งมา โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายแน่นอน ซึ่งอาจจะมีจำนวนค่าใช้จ่ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเสี่ยงต่อการที่จะถูกฝ่ายกรมทางหลวงดำเนินการแล้วโดนทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย แต่ถ้าฝ่ายกรมทางหลวงดำเนินการแล้วไม่โดนทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ก็ไม่ต้องเสียค่าย้ายเลย จึงคุ้มค่าแก่การเสี่ยง พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ทราบแล้วไม่ย้ายทรัพย์สินออกไปทั้งที่มีเวลาประมาณ 3 เดือน ถ้ามิใช่การตั้งใจเข้าเสี่ยงภัยอันถือได้ว่าเป็นการยินยอมก็เป็นการประมาทของฝ่ายโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างทางพิพาทโดยกรมทางหลวงได้แจ้งให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบซึ่งถือว่าโจทก์ได้ทราบแล้วได้เข้าดำเนินการตามคำสั่งและภายในกรอบเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ย่อมถือได้ว่าไม่มีความประมาทในการดำเนินการดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะสามารถอนุมานได้ว่า ถึงหากกรมทางหลวงเข้าดำเนินการด้วยตนเองก็คงจะทำอย่างจำเลยที่ 1 เช่นกัน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ย่อมไม่แตกต่างกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดเช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share