แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ไม้มะพอกแปรรูปของกลาง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็ต้องมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และมาตรา 186 (9) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบ ของกลางต้องคืนแก่เจ้าของ
คำขอให้สั่งให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคสี่ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวและปรากฏว่าจำเลยยึดถือหรือครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวจึงไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 และขอให้ศาลสั่งริบของกลางทั้งหมด และจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมายให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ร่วมกันแปรรูปไม้และมีไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนฐานร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติและมีไม้มะพอกไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานทำไม้หวงห้าม เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองปริมาตรเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จำคุกจำเลยที่ 3 กำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติจำคุกจำเลยที่ 3 กำหนด 1 ปี และปรับ 10,000 บาท และความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 1 ปี 14 เดือน และปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 14 เดือน และปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี 20 เดือนและปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 13 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วที่เกิดเหตุและบริเวณข้างเคียงมีชาวบ้านครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์เป็นส่วนมากแล้ว สภาพป่าไม่มีความหนาแน่นเหมือนเมื่อก่อนและพื้นที่ใกล้เคียงในตำบลที่เกิดเหตุบางส่วนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไปแล้ว ประกอบกับไม้ในที่เกิดเหตุเป็นจำนวนเล็กน้อยพฤติการณ์จึงไม่ร้ายแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้อง ให้จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติป่าไม้
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 เฉพาะในความผิดฐานร่วมกันทำไม้และแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดน ได้ร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมแจ้งข้อหาว่าร่วมกันทำไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันทำไม้ แปรรูปไม้ มีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามและร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีนายสุบรรณ นายแสงอรุณและดาบตำรวจสมใจผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 21 นาฬิกา พยานเดินทางไปยังป่าที่เกิดเหตุ เมื่อถึงที่เกิดเหตุได้ยินเสียงเลื่อยโซ่ยนต์และมองเห็นกลุ่มคนประมาณ 3 คน กำลังเลื่อยไม้ จากนั้นกระจายกำลังโอบล้อม ขณะเข้าจับกุม กลุ่มคนดังกล่าวมองเห็นจึงวิ่งหนี สามารถติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ จึงพามาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่ารับจ้างเลื่อยไม้ให้แก่จำเลยที่ 3 จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาไปบ้านจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตร ถึง 300 เมตร พบไม้มะพอกแปรรูป 5 แผ่น วางอยู่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 3 จึงจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมของกลางอีกหลายรายการตามบันทึกการจับกุม โดยพยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความทำนองเดียวกันว่า ไม่พบจำเลยที่ 3 อยู่ในจุดที่เกิดเหตุที่มีการตัดไม้และแปรรูปไม้ เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมานำสืบเพื่อยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ลำพังคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ให้การว่ารับจ้างจำเลยที่ 3 กระทำความผิด โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนเพื่อให้ศาลรับฟังประกอบคำซัดทอดดังกล่าวซึ่งแม้จะมิได้เป็นคำซัดทอดให้ตนพ้นผิดแต่ก็มีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยที่ 3 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับไม้มะพอกแปรรูปจำนวน 5 แผ่น ของกลางนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีไม้แปรรูปดังกล่าวปริมาตร 0.19 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง เมื่อปริมาตรไม้ไม่เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็ต้องมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 และมาตรา 186 (9) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่อาจริบไม้มะพอกแปรรูปของกลางได้ ต้องคืนแก่เจ้าของ นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้สั่งให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น เห็นว่า คำขอในส่วนนี้เป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสี่ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวและปรากฏว่าจำเลยยึดถือหรือครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวจึงไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและให้คืนไม้มะพอกแปรรูปของกลางแก่เจ้าของ