คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่1ซ่อมแซมถนนพิพาทโดยมีจำเลยที่2ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่1ซ่อมแซมถนนพิพาทและส่งมอบงานให้โจทก์แล้วต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์พบความชำรุดบกพร่องจึงแจ้งให้จำเลยที่1ซ่อมแซมแก้ไขจำเลยที่1เพิกเฉยโจทก์จึงจ้างบุคคลอื่นซ่อมแซมแก้ไขซึ่งจำเลยที่1ต้องรับผิดใช้ค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามที่ระบุในสัญญาจ้างและจำเลยที่2ต้องร่วมรับผิดด้วยถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่1รับผิดตามสัญญาจ้างธรรมดาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ10ปีหาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา601ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ซ่อมแซมถนนแอสฟัลต์ติกคอนกรีตบริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เป็นเงิน5,380,000 บาท จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์เป็นเงินไม่เกิน 269,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมถนนและส่งมอบงานให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2532เจ้าหน้าที่ของโจทก์พบว่าพื้นผิวแอสฟัลต์ติกคอนกรีตหลายแห่งบนถนนที่จำเลยที่ 1 ทำการซ่อม ร่อน แตก เป็นรูพรุน บางแห่งพื้นผิวทรุดตัวโดยความชำรุดเสียหายดังกล่าวเกิดจากการซ่อมแซมไม่เรียบร้อยโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขถนนที่ชำรุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสง่าฤาชาทำการซ่อมแซมแก้ไขแทนเป็นเงิน 269,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 290,833.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ความเสียหายของถนนมิได้เกิดขึ้นจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 แต่เกิดขึ้นเพราะรถบรรทุกสิ่งของหนักเกินพิกัดเข้าไปยังโรงงานต่าง ๆ ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้มากตามฟ้อง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่การชำรุดบกพร่องได้ปรากฎขึ้น คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน269,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ(แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 21,833.21 บาท)
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของถนนพิพาทเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม2532 โจทก์ต้องฟ้องจำเลยทั้งสองภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฎขึ้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2536คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1ซ่อมแซมถนนพิพาทโดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมถนนพิพาทและส่งมอบงานให้แก่โจทก์แล้วต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 เจ้าหน้าที่ของโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขถนนพิพาท แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสง่าฤาชาทำการซ่อมแซมแก้ไขถนนพิพาทเป็นเงิน 269,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์แสดงว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดจ่ายค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของถนนพิพาทที่ก่อสร้าง ตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างธรรมดา ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 ไม่ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3025/2522 ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิ ที่ 1 กับพวก จำเลย คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างอิงข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 และวันที่ 11 สิงหาคม 2532 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขถนนพิพาท และกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 4 และวันที่ 18 สิงหาคม 2532 แจ้งให้โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะทำการซ่อมแซมแก้ไขปลายเดือนสิงหาคม 2532 แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2536 จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share