คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้ซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้ขายมีเจตนาจะทำสัญญาซื้อขายเครื่องและอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียกันเป็นหนังสือ จึงได้จัดทำหนังสือสัญญาซื้อขายขึ้น แต่จำเลยที่ 1 ขีดฆ่าข้อความยี่ห้อไนเฮาส์อันเป็นข้อสาระสำคัญออก โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย แสดงว่ายังมีข้อโต้แย้งกันในข้อนี้จนต้องมีการเจรจากันอีก ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันในข้อดังกล่าว และทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามที่ตกลงกัน นับว่ายังมิได้มีสัญญาซื้อขายต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 217,195 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 183,756 บาท แก่โจทก์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 390,951 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2532 จนกว่าชำระเสร็จคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 52,999.30 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 443,950.30 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 390,951 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 217,195 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ลงชื่อในสัญญาซื้อขายแล้วโจทก์ได้ส่งสัญญาและเอกสารแนบท้ายไปยังจำเลยที่ 1 ให้ลงชื่อ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งสัญญาพร้อมแนบเอกสารคืนถึงโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในสัญญาแต่ขีดฆ่าข้อความบางส่วนในสัญญาออกและขีดฆ่ารายการเครื่องและอุปกรณ์แนบท้ายสัญญาในรายการที่ 1 เกี่ยวกับยี่ห้อไนเฮาส์ซึ่งมีราคา 1,175,000 บาท ออก โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าตามข้อตกลงจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาเครื่องยี่ห้อไนเฮาส์ให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำความตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 จะติดต่อให้บริษัทที่ผลิตเครื่องไนเฮาส์ออกหนังสือยืนยันว่าจะเป็นผู้จัดทำเครื่องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย โดยจำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบหนังสือให้โจทก์ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 เวลา 17 นาฬิกา หากพ้นเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังไม่อาจดำเนินการได้ ก็ให้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2532 เป็นอันยกเลิกกันไป แล้วจำเลยที่ 1 จะคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้แก่โจทก์ โจทก์ก็จะคืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลง โจทก์จึงแจ้งบอกเลิกสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำแล้วก็จะส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันคืน คำฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ยังมิได้ประพฤติผิดสัญญา เพราะโจทก์และบริษัทที่ผลิตเครื่องยี่ห้อไนเฮาส์ดังกล่าวได้สมคบกันให้ระงับการออกหนังสือยืนยันให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อหาเหตุอ้างเลิกสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันได้ให้การว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถตกลงจัดทำสัญญาซื้อขายกัน ในที่สุดได้มีการบอกเลิกสัญญา เท่ากับยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน โจทก์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การจัดทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำสัญญากันเป็นหนังสือ แต่จำเลยที่ 1 ขีดฆ่าข้อความยี่ห้อไนเฮาส์อันเป็นข้อสาระสำคัญออกจากสัญญาซื้อขาย โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย แสดงว่ายังมีข้อโต้แย้งกันในข้อนี้จนต้องมีการเจรจากันอีก ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันในข้อดังกล่าว และทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามที่ตกลงกัน นับว่ายังมิได้มีสัญญาซื้อขายต่อกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 และที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันใหม่ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะใช้ของยี่ห้อไนเฮาส์และให้ทางบริษัทไนเฮาส์วอเตอร์ สำนักงานใหญ่ที่ประเทศเนเธอแลนด์ หรือบริษัทไนเฮาส์วอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกหนังสือยืนยันภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มาส่งให้โจทก์ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สัญญาที่ลงนามกันไว้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2532 เป็นอันยกเลิก โดยทางจำเลยที่ 1 จะคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้ และโจทก์จะคืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ให้และจำเลยที่1 จะไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือยืนยันลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 ว่า หนังสือตอบรับยืนยันจากทางไนเฮาส์นั้น จำเลยที่ 1 จะส่งภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ขอระยะเวลาจากโจทก์โดยอ้างว่าเนื่องจากความจำเป็นในการเตรียมงานทางด้านเอกสารหนังสือ โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 เรื่อง ขอบอกเลิกสัญญาและขอให้ชำระเงินคืน แสดงว่า หลังจากมีการตกลงกันใหม่ดังกล่าวแล้วก็ยังไม่มีการทำสัญญากันเป็นหนังสืออีก เช่นนี้ นับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่โจทก์ได้ชำระงวดแรกตามที่ตกลงกันไว้แต่แรกจำนวน 390,951 บาท และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไว้ย่อมยังไม่ผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share