แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นซึ่งมีลูกกระสุนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 มิลลิเมตร ยิงนาย ค. ในระยะ 3 วา มีรอยกระสุนปืน 4 แห่ง ๆ ละ 1 แผล คือ ที่แขนซ้าย ก้นกบ ข้างตะโพกซ้าย และที่ขาขวา จากการถ่ายภาพรังษีพนมมีกระสุนในเนื้อเยื่อแห่งละ 1 นัด รักษาตัวในโรงพยาบาล 4 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายใน 14 วันและจำเลยได้ยิงนาย ส. มีรอยกระสุนหลายรอยที่บริเวณตะโพกซ้าย บริเวณรอบแผลบวมและช้ำ รักษาตัวในโรงพยาบาล 7 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายใน 20 วัน และได้ความจากแพทย์ว่าถ้าผู้เสียหายทั้งสองไม่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีและมีโลหิตออกมากเกินควรอาจถึงแก่ชีวิตได้ แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงมีประสิทธิภาพร้ายแรง อาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แม้จะถูกอวัยวะในที่ซึ่งไม่สำคัญ กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายสุวรรณ แสงบุญ ผู้เสียหายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๙๗/๒๕๑๓ และยิงนายคนอง ขัติยะ ผู้เสียหายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๙๘/๒๕๑๓ อีกสำนวนหนึ่ง โดยเจตนาว่า กระสุนปืนถูกนายสุวรรณที่บริเวณตะโพกและถูกนายคนองตามร่างกายหลายแห่งรักษา ๗ วัน และ ๔ วันตามลำดับ จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนไม่ถูกร่างกายส่วนสำคัญและได้รับการรักษาทันท่วงทีจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ และนับโทษจำเลยติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นจำเลยคนเดียวกันในคดีอาญาทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยได้กระทำผิดดังฟ้องทั้งสองสำนวน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและแต่ละกระทงมีโทษหนักเท่ากัน จึงลงโทษเพียงกระทงเดียว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ จำเลยอายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามมาตรา ๗๖ คงจำคุก ๘ ปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่อาจทำให้ผู้ถูกยิงถึงตายได้ จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๑ และ ๗๖ ให้จำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายฟังได้ว่าเป็นปืนลูกซองสั้น จำเลยยิงนายคนองผู้เสียหายในระยะ ๓ วา และยิงนายสุวรรณผู้เสียหายในระยะ ๒ วา ปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผลของนายคนองผู้เสียหายว่ามีรอยแผลกระสุนปืน ๔ แห่ง ๆ ละ ๑ แผล คือ ที่ต้นแขนซ้าย ก้นกบ ข้างตะโพกซ้าย และที่ขาขวาด้านหลัง จากการถ่ายภาพรังษีพบมีกระสุนปืนในเนื้อเยื่อแห่งละนัดในที่ดังกล่าว รักษาตัวในโรงพยาบาล ๔ วัน อาการดี และตามรายงานชันสูตรบาดแผลของนายสุวรรณผู้เสียหายปรากฏว่า มีรอยกระสุนปืนหลายรอยที่บริเวณตะโพกด้านซ้าย บริเวณรอบแผลบวมและช้ำ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ๗ วัน อาการดี นายแพทย์ประโยชน์ พุทธิรักษ์กุล ประจำโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้ตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเบิกความประกอบว่า นายคนองผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ๔ วัน เห็นว่าทุเลาจึงให้กลับไปรักษาตัวต่อไป ถ้าไม่มีโรงแทรกซ้อนจะหายใน ๑๔ วัน และบาดแผลนายสุวรรณผู้เสียหายเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วรักษาต่อไป ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายใน ๒๐ วัน นายสุวรรณผู้เสียหายเบิกความว่า ต้องไปรักษาตัวที่บ้านอีก ๑ เดือนเศษ แผลจึงหาย และได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์ประโยชน์ อีกว่า บาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองจากการถ่ายภาพรังษีซึ่งกระสุนปืนฝังในเนื้อเยื่อเป็นกระสุนปืนชนิดเดียวกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗ มิลลิเมตร ถ้าผู้เสียหายทั้งสองไม่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีและมีโลหิตออกมากเกินควร อาจถึงแก่ชีวิตได้ ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายดังนี้ ย่อมแสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายนั้น เป็นอาวุธปืนที่มีสิทธิภาพร้ายแรงมาก กระสุนปืนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗ มิลลิเมตร อาจทำให้เสียหายถึงแก่ความตายได้หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงที แม้จะถูกอวัยวะในที่ซึ่งไม่สำคัญ กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น