คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หากจำเลยกระทำความผิดลงในขณะที่จำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนแต่จำเลยก็ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างแล้ว ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2501 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด 32.20 ใช้ยิงได้ 1 กระบอก กระสุน 6 นัด ไว้ในความครอบครองไม่รับอนุญาต และบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้ตาย ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายซุ่ยเส็ง นางไวหยี่นางสาวจรุงใจ ถึงแก่ความตาย นางสาวยาใจถึงบาดเจ็บ ทั้งนี้โดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 364, 365, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ริบของกลาง

จำเลยให้การว่า ได้กระทำผิดตามฟ้องจริง แต่มิได้มีเจตนากระทำผิด ซึ่งในขณะนั้นจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่อง โรคจิตฟั่นเฟือน ทั้งก่อนจำเลยกระทำผิด จำเลยได้ถูกสุนัขบ้ากัด และเสพสุรามึนเมาจนครองสติไม่อยู่ จึงไม่ต้องรับโทษ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยกระทำผิดขณะรู้สึกผิดชอบ ทำกับผู้ตายและผู้เสียหายถึง 4 คนรุนแรงผิดปกติเพราะเมาสุรา พิพากษาว่าผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 365, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คือมาตรา 288 ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัยลดให้กึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุกตลอดชีวิตของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเป็นโรคจิตแน่ ฟังพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุหลังเกิดเหตุประกอบกันแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นโรคจิตขณะทำผิด ไม่สามารถจะบังคับตนเองได้ เป็นไปตามความคลุ้มคลั่งแห่งจิตขณะหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย

ศาลฎีกาพิจารณาพยานโจทก์จำเลยแล้ว ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยมีอาการผิดคนธรรมดาเมื่อจำเลยคลุ้มคลั่ง และเมื่อคลุ้มคลั่งขึ้นมาชอบส่งเสียงเอะอะ ทำลายสิ่งของ ทุบตีผู้คนอาการที่แสดงออกอย่างนี้จะเกิดมีขึ้นเดือนละ 3-4 ครั้ง แต่ตอนที่ไม่คลุ้มคลั่งก็เป็นคนธรรมดาส่วนอาการของจำเลยในขณะเกิดเหตุไม่มีแพทย์คนใดมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยมีสติฟั่นเฟือนไม่รู้สึกผิดชอบ แม้แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจำเลยก็ไม่มีใครเห็นจำเลยมีอาการคลุ้มคลั่งอย่างใด ก่อนหน้าจำเลยจะฉวยปืนเดินไปยิงผู้ตายในบริเวณบ้าน ก็ปรากฏว่าจำเลยดื่มสุราแม่โขงอยู่ภายในบ้านจำเลยหมดไปร่วมครึ่งขวด เกิดมีเสียงสุนัขของผู้ตายเห่าและตะกายรั้วสังกะสีบ้านจำเลย ๆ ไม่พอใจจึงร้องตะโกนบอกให้ทางบ้านผู้ตายห้ามสุนัข เมื่อผู้ตายร้องตอบมาว่าให้ไปห้ามเองจำเลยไม่พอใจจึงถือปืนเดินเข้าไปในบ้านผู้ตาย พูดถามว่าจะดีกันหรือโกรธกัน ผู้ตายตอบว่า จะโกรธกันก็ได้จะดีกันก็ได้ จำเลยจึงยิงผู้ตายทุกคนในระยะติด ๆ กัน เมื่อยิงแล้วจำเลยก็หลบหนีไป ต่อมาวันรุ่งขึ้นตอนเย็นตำรวจจึงจับจำเลยได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นบ้าอย่างไร นอกจากแสดงอาการเสียใจ ขณะสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและเล่าพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียดต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2501 โจทก์จึงฟ้องจำเลย ครั้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2502 ทางเรือนจำแจ้งให้ศาลทราบว่า จำเลยป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวารและโรคจิต ศาลจึงสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์ตรวจแพทย์ส่งรายงานการวินิจฉัยโรคลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2502 มายังศาลว่า จำเลยเป็นโรคจิตประเภท Schizopherenia M.T. ไม่สามารถรู้ผิดชอบเช่นคนธรรมดา ศาลอาญาจึงสั่งให้จำหน่ายคดีเสียชั่วคราวในวันที่ 25 มิถุนายน 2502 จนกระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2503 ทางโรงพยาบาลจึงได้แจ้งว่า จำเลยมีอาการดีพอจะต่อสู้คดีได้แล้วศาลจึงได้ดำเนินการพิจารณาต่อไปจนเสร็จสำนวน

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำของแพทย์ผู้ตรวจอาการจำเลยก็ไม่สามารถวิจัยและยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นโรคจิต เพียงแต่คิดว่าน่าจะเป็นการที่จำเลยทำงานที่โรงงานยาสูบออกตรวจตลาดได้ แสดงว่ายังไม่เป็นโรคนี้ จริงอยู่การที่จำเลยยิงไม่เลือกหน้าเพียงสาเหตุที่สุนัขทางบ้านผู้ตายเห่าตะกายรั้วประกอบกับได้รับคำตอบจากผู้ตายเป็นเชิงยั่วยุประสาทของจำเลยซึ่งไม่ปกติอยู่ก่อนแล้วว่า จะโกรธกันก็ได้ จะดีกันก็ได้ จำเลยก็ยิงผู้ตาย จะว่าจำเลยเป็นคนมีสติเป็นปกติเหมือนคนธรรมดาย่อมไม่ได้ แต่จะถึงกับเป็นคนวิกลจริตไม่รู้ผิดชอบในการกระทำเสียเลยก็ย่อมไม่ได้เช่นกัน เพราะการที่จำเลยดื่มสุราแม่โขงไปแล้วร่วมครึ่งขวดนั้น แม้แต่คนปกติก็อาจกลายเป็นคนไม่ปกติไปได้ด้วยพิษของสุรา ไฉนจำเลยซึ่งเป็นคนเคยมีอาการวิกลจริตมาก่อนและชอบดื่มสุราถึงขนาดเมาเอะอะจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากน้ำสุราที่ดื่มเข้าไปมากมายเช่นนี้ ดังนั้น จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมจำเลยจะกระทำรุนแรงเช่นนั้นไม่ได้ เมื่อจำเลยทำผิดแล้ว รู้สึกคิดหลบหนีเอาตัวรอดจากการถูกจับกุม เมื่อถูกจับแล้วจำเลยก็ให้การรับสารภาพผิด โดยเล่าเหตุการณ์ได้อย่างละเอียด จึงน่าเชื่อว่าขณะจำเลยกระทำผิด จำเลยยังรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงสุขภาพ ประวัติ ความเป็นมาของจำเลยก่อนเกิดเหตุและเมื่อเกิดเหตุแล้วในระหว่างคดี ปรากฏตามพยานหลักฐานโดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเคยมีอาการวิกลจริตถึงขนาดคลุ้มคลั่งกระทำอะไรลงไปโดยไม่รู้สึกผิดชอบ เช่น ดุด่าเฆี่ยนตีหลานทำลายสิ่งของเสียหายถึงกับต้องจับจำเลยมัด ประกอบกับปู่และบิดาของจำเลยก็เคยเป็นบ้า เมื่อจำเลยแสดงอาการดังกล่าวนี้ขึ้นเมื่อใด ทางมารดาจำเลยก็ได้นำตัวไปให้แพทย์เยียวยารักษา แต่แพทย์ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเมื่อจำเลยมีอาการปกติก็เหมือนคนธรรมดาไปทำงานตามหน้าที่ของจำเลยที่โรงงานยาสูบในแผนกเดินตลาดหาซื้อใบยาสูบได้ และอยู่กับภรรยาได้อย่างปกติ แต่เมื่อโรคเดิมกำเริบก็ต้องถูกส่งเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลโรคจิตดังที่จำเลยได้เคยถูกศาลอาญาส่งตัวไปให้แพทย์ทำการรักษาอยู่ร่วมปีเศษจึงหายกลับมาสู้คดีได้ต่อไป ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดนี้ลงไปในขณะจำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน แต่จำเลยก็ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามมาตรา 65 วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายอาญา สมควรกรุณาจำเลย

จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคท้าย มีกำหนด 10 ปี ลดโทษให้กึ่งตามมาตรา 78คงจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share