คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมผู้ให้เช่ากับจำเลยผู้เช่ากำหนดว่าระยะเวลาทำงานอันเป็นเกณฑ์ทำงานเงินบำเหน็จทดแทนของพนักงานและคนงานเดิมของโรงงานสุรากรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ผู้เช่ารับโอนมาทำงานกับผู้เช่าต่อไปมีอยู่แล้วเพียงใด ผู้เช่ายอมให้นำมานับต่อเนื่องกับระยะเวลาทำงานของพนักงานและคนงานนั้นเพื่อประโยชน์ในการคำนวณจ่ายเงินบำเหน็จดังนั้นจะนำเฉพาะระยะเวลาที่ลูกจ้างจะทำงานกับจำเลยมาคำนวณบำเหน็จหาได้ไม่ข้อความอื่นในสัญญาเช่าที่กำหนดว่าจำเลยต้องนำเงินจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายของลูกจ้างทุก ๆ ปี ฝากประจำไว้กับธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงหลักประกันว่าจำเลยว่าจำเลยจะมีเงินจ่ายเป็นบำเหน็จให้แก่ลูกจ้าเท่านั้นหาอาจแปลว่าจำเลยคงต้องจ่ายบำเหน็จเท่าค่าจ้างปีละเดือนเฉพาะระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานกับจำเลยไม่ ส่วนที่ลูกจ้างเคยรับบำเหน็จตัดตอนไปจากรมโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด นั้น เมื่อจำเลยเข้าดำเนินการในโรงงานสุรา จำเลยได้ตกลงทำสัญญาเช่าให้นำระยะเวลาทำงานของลูกจ้างตั้งแต่เข้าทำงานในโรงงานสุรามารวมเป็นฐานคำนวณบำเหน็จ จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า ดังนั้นการคำนวณบำเหน็จของลูกจ้างจึงต้องคำนวณโดยเอาค่าจ้างเดือนสุดท้ายของลูกจ้าง คูณด้วยระยะเวลาทำงานตั้งแต่เริ่มทำงานกับโรงงานสุราบางยี่ขันตลอดมาจนออกจากงานหรือตาย ได้จำนวนเงินเท่าใดลบด้วยจำนวนเงินบำเหน็จโดยเอาค่าจ้างเดือนสุดท้ายของลูกจ้างที่ได้รับจากบริษัทสุรามหาคุณ จำกัดคูณด้วยระยะเวลาทำงานตั้งแต่เริ่มทำงานในโรงงานสุราบางยี่ขันตลอดมาจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2522 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่บริษัทสุรามหาคุณ จำกัดเช่าโรงงานสุรา ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินบำเหน็จที่จำเลยต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง
คำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมให้นับระยะเวลาเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จเป็นอย่างเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยการนับเวลาราชการทวีคูณของข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494มีความมุ่งหมายว่าพนักงานและคนงานโรงงานสุนามีฐานะใกล้เคียงกับข้าราชการ สมควรได้นับเวลางานทวีคูณอย่างเดียวกับข้าราชการแต่ไม่มีเหตุที่พนักงานและคนงานดังกล่าวจะได้นับเวลาทำงานทวีคูณนอกเหนือไปกว่าข้าราชการพึงได้รับ ดังนั้นหากมีเหตุตามกฎหมายที่ข้าราชการไม่อาจนับเวลาราชการทวีคูณ เหตุนั้นย่อมทำให้พนักงานและคนงานไม่อาจนับเวลาทำงานเป็นทวีคูณด้วย
เมื่อลูกจ้างออกจากงานหรือตาย จำเลยต้องชำระบำเหน็จแก่ลูกจ้างหรือทายาทตามสัญญาเช่า หนี้เงินบำเหน็จจึงถึงกำหนดชำระ หลังจากลูกจ้างหรือโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่งหนี้บำเหน็จเป็นหนี้เงินจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เมื่อวันทวงถามและผิดนัดสำหรับลูกจ้างไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด โจทก์จึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง 17 สำนวนฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต่อจากบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด โจทก์และลูกจ้างซึ่งโจทก์บางคนเป็นทายาทออกจากงานเพราะเกษียณอายุบ้าง ถูกเลิกจ้างเพราะมีมลทินมัวหมองบ้าง ออกจากงานเพราะเสียชีวิตบ้าง และลาออกบ้าง ได้ทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงงานสุราบางยี่ขันมาตั้งแต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการเอง จนกระทั่งให้บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เช่า และจำเลยเช่าตามลำดับ โจทก์และลูกจ้างของจำเลยทุกคนทำงานเกิน 5 ปีขึ้นไปทุกคน แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์และลูกจ้างอ้างว่าทำงานกับจำเลยไม่ครบ5 ปี ไม่มีสิทธินับระยะเวลาต่อเนื่องกับระยะเวลาที่ได้ทำงานมากับนายจ้างคนเดิม ขอให้พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้ง 17 สำนวนให้การว่า โจทก์คำนวณบำเหน็จไม่ถูกต้องเพราะคิดเวลาทวีคูณไม่ถูกต้อง จำเลยมิได้ผิดนัดจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แต่ละคนโดยนำระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมนับแต่วันเริ่มมีสิทธิคำนวณบำเหน็จจนถึงวันสุดท้ายที่ทำงานกับจำเลยบวกด้วยระยะเวลาทวีคูณแล้วคูณด้วยเงินเดือนที่โจทก์ได้รับครั้งสุดท้ายจากจำเลย ได้ผลลัพธ์เท่าใดลบด้วยผลลัพธ์ที่คำนวณจากระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมนับแต่วันเริ่มมีสิทธิคำนวณบำเหน็จถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2522 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ทำงานกับบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด พร้อมด้วยระยะเวลาทวีคูณแล้วคูณด้วยเงินเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายจากบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด การคำนวณระยะเวลาทวีคูณเฉพาะที่ไม่มีกฎหมายให้ระงับการนับเวลาทวีคูณคำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้ง 17 สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้วได้ความว่า โรงงานสุราบางยี่ขันเป็นของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เช่าโดยรับโอนพนักงานและคนงานเดิมของโรงงานสุราไป ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2523 จำเลยเช่าโรงงานสุราเป็นช่วงที่สอง โดยสัญญาเช่าระบุให้รับโอนพนักงานและคนงานมาด้วยโดยจำเลยต้องให้ สิทธิ ประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม โจทก์และลูกจ้างในคดีนี้เป็นลูกจ้างของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทสุรามหาคุณจำกัด มาก่อน นายจ้างทั้งสองรายก่อนได้จ่ายบำเหน็จตักตอนให้ลูกจ้างรับไปแล้ว และวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับจำเลยที่กำหนดว่าระยะเวลาทำงานอันเป็นเกณฑ์คำนวณเงินบำเหน็จทดแทนของพนักงานและคนงานเดิมของโรงงานสุรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ผู้เช่ารับโอนมาทำงานกับผู้เช่าต่อไปตามสัญญานี้มีอยู่แล้วเพียงใด ผู้เช่ายอมให้นำมานับต่อเนื่องกับระยะเวลาทำงานของบุคคลดังกล่าวที่มีอยู่ตามสัญญา นั้น แสดงชัดแจ้งว่าจะนำเฉพาะระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานกับจำเลยมาคำนวณบำเหน็จหาได้ไม่ การที่สัญญาเช่ากำหนดไว้ว่าจำเลยต้องนำเงินจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายของลูกจ้างทุก ๆ ปีฝากประจำไว้กับธนาคารพาณิชย์ เพียงเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะมีเงินจ่ายเป็นบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น หาอาจแปลว่าจำเลยจะต้องจ่ายบำเหน็จเท่าค่าจ้างปีละเดือนเฉพาะระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานกับจำเลยไม่สำหรับความในสัญญาที่ว่าระยะเวลาทำงานซึ่งลูกจ้างมีอยู่แล้วนั้นหมายถึงระยะเวลาตั้งแต่ลูกจ้างเข้าทำงานในโรงงานสุราเป็นต้นมาจนถึงวันเข้าทำงานกับจำเลย ส่วนที่ลูกจ้างเคยรับบำเหน็จตัดตอนไปจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทสุรามหาคุณ จำกัดเมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันได้ตกลงให้นำระยะเวลาทำงานของลูกจ้างตั้งแต่เข้าทำงานในโรงงานสุรารวมเป็นฐานคำนวณบำเหน็จด้วย จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ลูกจ้างไม่มีความผูกพันใดที่จะต้องยอมให้จำเลยหักระยะเวลาที่ลูกจ้างรับบำเหน็จตัดตอนไปแล้วออกจากระยะเวลาทำงาน การคำนวณเงินบำเหน็จในกรณีเช่นนี้ต้องเอาค่าจ้างเดือนสุดท้ายของลูกจ้างคูณด้วยระยะเวลาทำงานตั้งแต่เริ่มทำงานกับโรงงานสุราบางยี่ขันตลอดมาจนออกจากงานหรือตาย ได้จำนวนเงินเท่าใดลบด้วยจำนวนเงินบำเหน็จซึ่งคำนวณโดยเอาค่าจ้างเดือนสุดท้ายของลูกจ้างที่ได้รับจากบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด คูณด้วยระยะเวลาทำงานตั้งแต่เริ่มทำงานในโรงงานสุราบางยี่ขันตลอดมาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม2522 ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินบำเหน็จที่จำเลยต้องจ่ายแก่ลูกจ้างแต่ละคน

คำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงานสุราให้นับเวลางานเป็นทวีคูณเป็นอย่างเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยการนับเวลารายการทวีคูณของข้าราชการแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494แสดงว่าลอกเลียนมาจากบทกฎหมายดังกล่าว โดยมีความมุ่งหมายว่าพนักงานและคนงานโรงงานสุรามีฐานะใกล้เคียงกับข้าราชการสมควรได้นับเวลางานทวีคูณอย่างเดียวกับข้าราชการด้วย แต่ไม่มีเหตุใด ๆที่พนักงานและคนงานดังกล่าวจะได้นับเวลาทำงานทวีคูณนอกเหนือไปกว่าข้าราชการพึงได้รับ ดังนั้น หากมีเหตุที่ข้าราชการไม่อาจนับเวลาราชการทวีคูณ เหตุนั้นย่อมทำให้พนักงานและคนงานไม่อาจนับเวลาทำงานเป็นทวีคูณด้วย ฉะนั้น เมื่อมีพระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกของคณะปฏิวัติ ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2521 พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติระงับการนับเวลาราชการทวีคูณในระหว่างเวลาประกาศใช้กฎอัยการศึกตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ มิให้นับเวลาราชการของข้าราชการภายหลังวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นทวีคูณ ย่อมมีผลให้ไม่อาจนับเวลาทำงานของลูกจ้างในคดีนี้เป็นทวีคูณด้วย

เมื่อลูกจ้างออกจากงานหรือตามจำเลยต้องชำระบำเหน็จแก่ลูกจ้างหรือทายาทตามสัญญาเช่า หนี้เงินบำเหน็จจึงถึงกำหนดชำระ หลังจากนั้นลูกจ้างหรือโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระบำเหน็จแล้ว จำเลยไม่ชำระจำเลยย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยังไม่จ่ายบำเหน็จเนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาโดยมิใช่จำเลยจะมีเจตนาไม่จ่ายเงินบำเหน็จเสียทีเดียวหานับว่าเป็นพฤติการณ์อันจะทำให้จำเลยไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ หนี้บำเหน็จเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่กรณีนี้การผิดนัดเกิดขึ้นเมื่อมีการทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ หาใช่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันลูกจ้างออกจากงานหรือถึงแก่ความตายไม่ เมื่อวันทวงถามและผิดนัดสำหรับลูกจ้างแต่ละคนไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใดบ้าง โจทก์จึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ด้วย

Share