คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน แต่ช่วงระยะเวลาที่ ผู้เสียหายจะมีโอกาสมองเห็นใบหน้าของคนร้ายได้นั้นเกิดขึ้นตอนที่คนร้ายลงจากรถจักรยานยนต์เดินมาหาแล้วใช้ อาวุธปืนสั้นจ่อที่ใบหน้าผู้เสียหาย โอกาสที่ผู้เสียหายมองเห็นใบหน้าของคนร้ายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงแวบเดียว เพราะในช่วงเวลาหลังจากนั้นผู้เสียหายได้เตรียมปลดสร้อยคอจากคอผู้เสียหายเพื่อส่งให้แก่คนร้าย และในช่วงที่ผู้เสียหายเตรียมปลดสร้อยคอ คนร้ายได้กระชากสร้อยคอจนขาดจากคอผู้เสียหายและวิ่งไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกจอดติดเครื่องรออยู่ขับหลบหนีไปทันที ยิ่งเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้โอกาสที่ผู้เสียหายจะมองเห็นใบหน้าของคนร้ายย่อมมีน้อยมาก ประกอบกับผู้เสียหายสวมหมวกนิรภัยมีกระจกด้านหน้าเป็นสีชา สีของกระจกย่อมทำให้ผู้เสียหายมองเห็นใบหน้าของคนร้ายผิดเพี้ยนไปได้ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักคนร้ายมาก่อนและไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายและไม่ปรากฏว่าทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายชิงไปถูกยึดได้จากจำเลยมาเป็นของกลางประกอบคดี จำเลยให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ต้นและได้นำสืบอ้างฐานที่อยู่ ตามพฤติการณ์แห่งคดีพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยอาจจะไม่ใช่คนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง และจำเลยไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 90, 91, 339, 340 ตรี, 371 และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 6,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371, 83เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก15 ปี และปรับ 100 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 6,500 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์กลับจากรับประทานอาหารไปตามถนนพิศาลภพเพื่อกลับบ้าน เมื่อขับไปก่อนจะถึงบ้านประมาณ 50 เมตร ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์แล่นตามหลังมาด้วยความเร็วสูง ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นคนรู้จักกัน จึงชะลอรถเพื่อจะจอด แต่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้ขับแซงรถของผู้เสียหายทางขวามือแล้วจอดขวางหน้าในระยะห่างประมาณ 2 เมตร มีชายคนหนึ่งเป็นคนขับและอีกคนหนึ่งนั่งซ้อนท้าย ชายคนที่นั่งซ้อนท้ายลงจากรถเดินมาหาแล้วใช้อาวุธปืนสั้นจ่อที่ใบหน้าผู้เสียหาย ผู้เสียหายเข้าใจว่าจะถูกชิงทรัพย์ จึงเตรียมปลดสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้นพร้อมพระเครื่องเลี่ยมทองคำ 1 องค์ รวมราคาประมาณ 6,000 บาทซึ่งสวมอยู่ที่คอเพื่อส่งให้ แต่ชายคนดังกล่าวได้กระชากสร้อยคอทองคำดังกล่าวจนขาดจากคอผู้เสียหายแล้ววิ่งไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกจอดติดเครื่องรออยู่ขับหลบหนีหลังจากนั้นผู้เสียหายไปแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และได้เล่าเรื่องกับบอกรูปพรรณของคนร้ายแก่นายดาบตำรวจไฉน สังข์ขำพี่เขยของผู้เสียหาย ซึ่งรับราชการตำรวจที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ทราบ ต่อมาเช้าวันรุ่งขึ้นนางศิริรัตน์สังข์ขำ พี่สาวผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาของนายดาบตำรวจไฉนแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจทราบตัวคนร้ายแล้วทำงานอยู่ที่ร้านขายอะไหล่รถยนต์ชื่อร้านธนิตยนต์จึงพากันไปดูตัว พบจำเลยอยู่ที่ร้าน ผู้เสียหายจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์และลงไปชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงไปแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยดำเนินคดี ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าว ปัญหามีว่าผู้เสียหายจดจำคนร้ายได้อย่างแม่นยำไม่ผิดตัวหรือไม่ เห็นว่าแม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางวัน แต่ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะมีโอกาสมองเห็นใบหน้าของคนร้ายได้นั้นเกิดขึ้นตอนที่คนร้ายลงจากรถจักรยานยนต์เดินมาหาแล้วใช้อาวุธปืนสั้นจ่อที่ใบหน้าผู้เสียหายดังนั้นโอกาสที่ผู้เสียหายมองเห็นใบหน้าของคนร้ายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงแวบ เดียวเพราะในช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นผู้เสียหายได้เตรียมปลดสร้อยคอจากผู้เสียหายเพื่อส่งให้แก่คนร้ายย่อมทำให้โอกาสที่จะจดจำใบหน้าของคนร้ายมีน้อย และปรากฏว่าในช่วงที่ผู้เสียหายเตรียมปลดสร้อยคอนั้นคนร้ายได้กระชากสร้อยคอจนขาดจากคอผู้เสียหายและวิ่งไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกจอดติดเครื่องรออยู่ขับหลบหนีไปทันที ยิ่งเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้โอกาสที่ผู้เสียหายจะมองเห็นใบหน้าของคนร้ายย่อมมีน้อยมากประกอบกับผู้เสียหายสวมหมวกนิรภัยมีกระจกด้านหน้าเป็นสีชา ซึ่งสีของกระจกดังกล่าวย่อมทำให้ผู้เสียหายมองเห็นใบหน้าของคนร้ายผิดเพี้ยนไปได้ ทั้งผู้เสียหายไม่เคยรู้จักกับคนร้ายมาก่อน และจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าคนร้ายคนดังกล่าวมีหน้าตาเป็นตำหนิผิดแผกแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไปที่จะทำให้ผู้เสียหายจำหน้าคนร้ายได้อย่างแม่นยำไม่ผิดตัวนอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าเมื่อผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่ร้ายขายอะไหล่รถยนต์ซึ่งจำเลยทำงานอยู่แล้วไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่าสงสัยจำเลยจะเป็นคนร้ายแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าผู้เสียหายหาได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายไม่ ส่วนที่ผู้เสียหายอ้างว่าได้บอกรูปพรรณของคนร้ายให้นายดาบตำรวจไฉนทราบก็ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าคนร้ายมีตำหนิรูปพรรณอย่างไร ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำนายดาบตำรวจไฉนมาเบิกความสนับสนุน ยิ่งกว่านี้ไม่ปรากฏว่าทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายชิงไปถูกยึดได้จากจำเลยมาเป็นของกลางประกอบคดี ทั้งจำเลยก็ได้ให้การปฏิเสธตลอดมาแต่ต้นและได้นำสืบอ้างฐานที่อยู่ว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ร้านขายอะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของนายธนิต ชื่นหิรัญเนื่องจากจำเลยเป็นลูกจ้างอยู่ที่ร้านดังกล่าว โดยจำเลยมีนายธนิตเจ้าของร้านและนายสุขุม ชื่นหิรัญ ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ร้านดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนกรณีจึงอาจเป็นดังจำเลยนำสืบก็ได้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยอาจจะไม่ได้เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองเมื่อเป็นเช่นนี้คดีจึงฟังไม่ได้ด้วยว่าจำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์และพาอาวุธไปในทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371, 83 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share