คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่ถึงที่สุดมาฟ้อง ขอให้จำเลยล้มละลายโดยมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากจำเลยผิดสัญญาประกันผู้ต้องหาต่อโจทก์และ ในการประกันผู้ต้องหานั้น จำเลยได้นำที่ดินตาม น.ส.3 ของบุคคลภายนอกวางเป็นหลักประกันไว้ ขณะที่จำเลยยื่น คำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันผู้ต้องหาโดยมิได้จดทะเบียน จำนอง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลย ในที่ดินที่เป็นหลักประกันถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษาเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้นโจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 9 โดยมิต้องปฏิบัติตามความในมาตรา 10 จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันจำเลยไม่ชำระหนี้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ของจำเลยจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(5)(9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1530/2529 ของศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีนี้คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์มีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1530/2529 มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในคดีนี้ได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า มูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากจำเลยผิดสัญญาประกันผู้ต้องหาต่อโจทก์และในการประกันผู้ต้องหานั้น จำเลยได้นำที่ดินตาม น.ส.3 ของบริษัทอุดรสหสินจำกัด รวม 4 ฉบับ วางเป็นหลักประกันไว้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันต้องบังคับชำระหนี้เอากับหลักประกันดังกล่าวก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้บังคับเอากับทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในข้อนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยยื่นคำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 นั้น จำเลยนำที่ดินตามน.ส.3 ของบริษัทอุดรสหสิน จำกัด มาวางเป็นหลักประกันโดยมิได้จดทะเบียนจำนองโจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยในที่ดินที่เป็นหลักประกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้น โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 9 โดยมิต้องปฏิบัติตามความในมาตรา 10 ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกอุดร ชูก้าน เบิกความว่าได้ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วจำนวนสองครั้งตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 โดยจ่าสิบตำรวจหนูเจน กำมหาวงษ์ เป็นผู้นำหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.13 ไปส่งที่ทำการไปรษณีย์อำเภอสุวรรณคูหาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 จำเลยมิได้นำสืบหักล้างแต่อย่างใดข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่า จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยไม่ชำระหนี้ นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกอุดรว่า ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ของจำเลยจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(5)(9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยนำที่ดินจำนวน 4 แปลงของบริษัทอุดรสหสิน จำกัด เป็นหลักประกันในการประกันตัวผู้ต้องหา จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทอุดรสหสิน จำกัดซึ่งบริษัทอุดรสหสิน จำกัด ก็ยินยอมให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์มาเป็นเหตุผลประกอบพยานหลักฐานของจำเลยว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่สามารถขวนขวายชำระหนี้ได้และมีเหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลายนั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้บริษัทอุดรสหสิน จำกัดมีทรัพย์สิน คือที่ดิน 4 แปลง มากกว่าหนี้ซึ่งพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของบริษัทอุดรสหสิน จำกัดเมื่อจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่สามารถชำระหนี้โจทก์ได้พยานหลักฐานของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share