แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับ ล. อยู่กินด้วยกันเมื่อปี 2507 แล้วจึงได้จดทะเบียนการสมรสเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2519 ล. ซื้อ ที่พิพาทเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2518 แล้วจึงออกโฉนด ที่ดินเมื่อวันที่19 มกราคม 2522 โดย มีชื่อ ล. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ดังนี้ที่พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้ มาก่อนที่จำเลยกับ ล. จดทะเบียนการสมรสกัน หาใช่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับ ล. ได้ มาระหว่างสมรสอันจะทำให้เป็นสินสมรสตาม ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1466เดิม บัญญัติไว้ไม่
ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับ ล. ทำมาหาได้ ร่วมกันก่อนจดทะเบียนการสมรสกัน จำเลยกับ ล. จึงเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกันคนละส่วน เมื่อได้ จดทะเบียนการสมรสที่พิพาทย่อมเป็นสินเดิมของแต่ละฝ่าย อันเป็นสินบริคณห์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา1462 1463(1) เดิม ซึ่งตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ บทบัญญัติบรรพ 5แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 ให้ถือว่าสินเดิมของแต่ละฝ่ายดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายนั้นตาม บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ จำเลยกับ ล. ไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นอย่างอื่น ล. ซึ่ง เป็นสามีจึงเป็นผู้จัดการที่พิพาทอันเป็นสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1468 เดิม และตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งป.พ.พ. ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ มาตรา 7 ฉะนั้นการที่ ล.จดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2524 ในขณะที่จำเลยกับ ล. ยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ จึงถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้ ล. ขายฝากที่พิพาทอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยกึ่งหนึ่งด้วย เมื่อผู้คัดค้านยอมรับว่าจำเลยขายฝากที่พิพาทเฉพาะ ส่วนของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านซึ่ง เป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะ ส่วนของจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115
การเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เป็นไปโดย ผลของคำพิพากษา ตราบใด ที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่าได้ มีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้รับโอนต้อง รับผิดในเรื่องดอกเบี้ย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๐๔ ตำบลแม่สอด และที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของจำเลย ระหว่างจำเลยผู้คัดค้านตามมาตรา ๑๑๕ แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยดังกล่าวกลับคืนเป็นของจำเลย หากไม่สามารถกลับคือสู่ฐานะเดิมได้ ก็ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้ร้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้ซื้อฝากที่ดินทั้งสองโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยและนายล้วนสามีจำเลยเพื่อเป็นการใช้หนี้ตามคำร้องจริงแต่ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยกู้เงินผู้คัดค้านไปประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้คัดค้านเป็นการชำระหนี้ ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งหมดผู้คัดค้านจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จำเลยได้ติดต่อกับผู้คัดค้านเพื่อประนีประนอมยอมความกัน โดยเสนอที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๐๔ ของจำเลย และที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ ของนายล้วน ซึ่งติดจำนองมาขายฝาก ให้ผู้คัดค้านไถ่ถนอจำนองอีกเป็นเงินประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการหักถอนลบหนี้กัน ดังนั้นเหตุที่จำเลยขายฝากที่ดินทั้งสองโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านก็เพื่อให้ผู้คัดค้านถอนคำร้องทุกข์ และจำเลยยังมีสิทธิไถ่คืนได้ภายในกำหนด จึงมิใช่เป็นการให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ขอให้เพิกถอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๐๔ ซึ่งขายฝากในราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยได้เท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ ซึ่งขายฝากในราคา ๗๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนายล้วนที่นำมาขายฝากเพื่อชำระหนี้แทนจำเลย จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
ก่อนสืบพยาน ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงนำสืบข้อเท็จจริงกันเพียงประเด็นเดียวว่า ในขณะทำการขายฝาก ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ เป็นกรรมสิทธิ์ของนายล้วนอันเป็นสินส่วนตัว หรือเป็นสินสมรสระหว่างนายล้วนกับจำเลย ส่วนข้อเท็จจริงอื่นตามคำร้องนอกจากนี้ผู้คัดค้านไม่ได้โต้เถียงโดยยินยอมรับหมดตามคำร้อง หากปรากฎว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ เป็นสินส่วนตัวของนายล้วนขณะโอน ฝ่ายผู้ร้องแพ้คดีเฉพาะส่วนนี้ถ้าได้ความว่าเป็นสินสมรศ ผู้คัดค้านแพ้คดีทั้งหมด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายล้วน ขณะจดทะเบียนขายฝากจำเลยกับนายล้วนยังมิได้หย่าขาดจากกันจึงยังเป็นสินสมรสของบุคคลทั้งสองอยู่ แต่นายล้วนผู้เดียวเป็นคู่สัญญากับผู้คัดค้าน จำเลยไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาดังกล่าวกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องมิได้ร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างนายล้วนกับผู้คัดค้าน และให้นายล้วนเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยจึงไม่อาจสั่งเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างนายล้วนกับผู้คัดค้านได้ มีคำสั่งเพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๐๔ ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านเฉพาะส่วนของจำเลย ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่ผู้ร้อง กับให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนี้แก่ผู้ร้องสำหรับค่าทนายความนั้นผู้ร้องว่าความเอง จึงไม่กำหนดให้ นอกจากนี้ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ เป็นสินส่วนตัวของนายล้วน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกับนายล้วนล่อกา ได้อยู่กินกันมาก่อนเป็นเวลา ๑๒ ปี แล้วจึงได้จดทะเบียนการสมรสเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๙ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ ตำบบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันนี้ เดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ซึ่งปรากฎตามสารบัญจดทะเบียนว่า นายล้วนได้ซื้อมาจากนายรส ดวงเอื้อย เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๘ แล้วจึงได้ออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๒ โดยมีชื่อนายล้วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่จำเลยกับนายล้วนจดทะเบียนการสมรสกัน จึงหาใช่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับนายล้วนได้มาระหว่างสมรสอันจะทำให้เป็นสินสมรส ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๖ เดิม บัญญัติไว้ไม่ ฏีกาของผู้ร้องที่ว่าพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายล้วน ผู้คัดค้านจึงต้องแพ้คดีนั้น ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาว่า ขณะทำการขายฝาก ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของนายล้วนหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ เป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับนายล้วนทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นจำเลยกับนายล้วนจึงเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกันคนละส่วนตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๘ เมื่อได้จดทะเบียนการสมรสวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๙ ที่พิพาทย่อมเป็นสินเดิมของแต่ละฝ่าย อันเป็นสินบริคณห์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๒, ๑๔๖๓ (๑) เดิม ซึ่งตาม พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๗ ให้ถือว่าสินเดิมของแต่ละฝ่ายดังกล่าว เป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายนั้นตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ที่พิพาทจึงหาได้เป็นสินส่วนตัวของนายล้วนแต่เพียงผู้เดียวไม่ ในขณะจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ จำเลยกับนายล้วนยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ เพราะได้จดทะเบียนการหย่าในภายหลังเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จำเลยกับนายล้วนไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นนายล้วนซึ่งเป็นสามีเป็นผู้จัดการที่พิพาทอันเป็นสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๘ เดิม และตาม พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา ๗ ฉะนั้น การที่นายล้วนจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน จึงถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้นายล้วนขายฝากที่พิพาทอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยกึ่งหนึ่งด้วย เมื่อผู้คัดค้านยอมรับว่าจำเลยขายฝากที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ส่วนในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่สามารถโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ผู้ร้องก็ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงินด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่าการเพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลย เป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องดอกเบี้ยตามที่ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๘๔ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของจำเลยระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านเสียด้วย หากไม่สามารถกลับคือสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาเป็นเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนผู้ร้อง ส่วนค่าทนายความนั้นผู้ร้องว่าความเอง จึงไม่กำหนดให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์