คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3200/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ซึ่งเป็นรถที่มีทะเบียนแต่จำเลยก็ยังรับซื้อมาในราคาเพียง3,000บาทซึ่งเป็นราคาถูกผิดปกติอย่างมากโดยมิได้สนใจเรื่องการโอนทะเบียนรถพฤติการณ์มีเหตุบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 2 ปี คำให้การชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในส่วนข้อหาความผิดฐานรับของโจรนั้นโจทก์มีนายสมร คนทัตย์ ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากรถจักรยานยนต์ของกลางถูกคนร้ายลักไปแล้ว ผู้เสียหายสืบหารถจักรยานยนต์มาตลอดจนกระทั่งวันที่ 26 เมษายน 2531 เวลาประมาณ 17 นาฬิกาผู้เสียหายพบเจ้าพนักงานตำรวจนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ของตนสอบถามได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์คันนี้จากจำเลยในคดีใช้รถไม่มีทะเบียนในวันที่ 28 เดือนเดียวกันผู้เสียหายจึงนำหลักฐานทะเบียนรถจักรยานยนต์ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกบินทร์บุรี และเจ้าพนักงานตำรวจได้คืนรถจ้กรยานยนต์ค้นดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายไป ต่อมาอีกประมาณ3 – 4 วัน ผู้เสียหายไปสอบถามจำเลยที่บ้านได้ความว่าจำเลยรับซื้อรถจักรยานยนต์ค้นนั้นมาจากพรรคพวกในราคา 3,000 บาท โดยมีร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์ ณรงค์ พยานผู้จับจำเลยในคดีข้อหาว่าจำเลยใช้รถไม่มีทะเบียนมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อพยานกับพวกไปพบรถจักรยานยนต์ของกลางไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนจอดอยู่ใต้ถุนบ้านจำเลย พยานได้เรียกจำเลยมาสอบถามว่าได้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไร จำเลยบอกว่ารับซื้อไว้จากนายสมนึกหรือนายสิงหาจำเลยไม่แน่ใจ คำของผู้เสียหายและร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์จึงเป็นการยืนยันสอดคล้องต้องกันว่าจำเลยบอกแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมาจากผู้อื่นหาใช่รับฝากรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากชายคนหนึ่งซึ่งจำเลยไม่รู้จักมาก่อนเพราะรถจักรยานยนต์เครื่องเสียดังที่จำเลยนำสืบและยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในฎีกาของจำเลยไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยบอกแก่ร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์และผู้เสียหายก็เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและสอบสวนดำเนินคดีนี้ด้วย จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้บอกเล่าไปตามความจริง อีกทั้งทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยจะมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์และผู้เสียหาย จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย นอกจากนี้ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยรับฝากไว้จริงเมื่อถูกเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาดำเนินคดีในข้อหาใช้รถไม่จดทะเบียนและเสียภาษี จำเลยก็น่าที่จะให้การปฏิเสธและแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบเสียแต่ต้น แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ กลับให้การรับสารภาพในคดีนั้นจนถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นร้อยตำรวจเอกประกาศ พงษ์พานิช พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า หลังจากศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 500 บาท แล้ว จำเลยได้มาขอรถจักรยานยนต์คืน แต่ไม่มีหลักฐาน เจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่ยอมคืนให้แก่จำเลยยิ่งเป็นพฤติการณ์ที่ยืนยันให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า จำเลยได้รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ หาใช่เป็นเพียงรับฝากไว้จากชายไม่ทราบชื่อไม่ เพราะหากจำเลยเพียงแต่เป็นผู้รับฝากรถจักรยานยนต์ไว้เท่านั้นก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องออกหน้าไปขวนขวายขอคืนรถจักรยานยนต์ด้วยตนเองส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่เคยมาขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนโดยอ้างคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกศรานนท์ หอมทรัพย์มาสนับสนุนนั้น เห็นว่าแม้ร้อยตำรวจเอกศรานนท์จะเบิกความว่าหลังจากศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลยแล้ว จำเลยได้หายไปเลยไม่เคยมาขอคืนของกลางก็ตาม แต่ร้อยตำรวจเอกศรานนท์เป็นเพียงเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยในข้อหาใช้รถโดยไม่มีทะเบียนเท่านั้น และร้อยตำรวจเอกศรานนท์ก็ได้เบิกความยอมรับต่อคำถามค้านของทนายจำเลยว่าพยานไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีนี้ แสดงว่าร้อยตำรวจเอกศรานนท์มิใช่ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาเรื่องขอคืนของกลาง และจำเลยอาจมาขอคืนของกลางในขณะที่ร้อยตำรวจเอกศรานนท์ไม่อยู่ที่สถานีตำรวจก็ได้ แต่ร้อยตำรวจเอกประกาศ พงษ์พานิช เป็นพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่พิจารณาเรื่องขอคืนของกลางโดยตรง และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าจะมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับจำเลย คำของร้อยตำรวจเอกประกาศจึงมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้ว่าจำเลยได้มาขอรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จริง เมื่อปรากฎว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นรถที่มีทะเบียน แต่จำเลยก็ยังรับซื้อมาในราคาเพียง3,000 บาท ซึ่งเป็นราคาถูกผิดปกติอย่างมากโดยมิได้สนใจเรื่องการโอนทะเบียนรถ พฤติการณ์มีเหตุบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
พิพากษายืน

Share